กรุงเทพฯ 10 พ.ค.- ครบ 24 ชั่วโมง ที่นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ให้เวลา ผบ.ตร. แก้ไขปัญหาคดี “แตงโม” หลังออกมาแฉขบวนการจัดฉากการเสียชีวิตของ “แตงโม” เมื่อวานนี้ (9 พ.ค.) ล่าสุด เดินทางไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ บก.ปปป. แล้ว
นายอัจฉริยะ นำพยานหลักฐานเข้าแจ้งความร้องทุกข์ กับ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ ผบก.ปปป. กล่าวโทษคณะแพทย์กับพวก กรณีมีการสร้างข้อความอันเป็นเท็จคดีการเสียชีวิตของดาราสาว แตงโม นิดา พัชรวีระพงษ์ และส่งให้คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนที่ทำคดีแตงโม จนนำไปสู่การแจ้งข้อหาและสรุปสำนวนส่งอัยการ
นายอัจฉริยะ ระบุว่า ส่วนตัวมองว่าแผลข้างขวาด้านในซึ่งเป็นแผลทางยาว ไม่ได้เกิดจากใบพัดเรือแน่นอน ส่วนแผลเล็กแนวขวางไม่ติดใจ เพราะสามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้นการที่แพทย์ระบุชัดเจนว่าเกิดจากใบพัดเรือ จึงเป็นการกระทำโดยมิชอบ
นอกจากนี้ นายอัจฉริยะยังได้เปิดแชทหลุดอีกชุด ที่เป็นบทสนทนาของบุคคลที่ใช้ชื่อว่า “วรชาติ/ไอยรา4” สนทนากับบุคคลภายนอก ในลักษณะยอมรับว่าตำรวจได้ทดลองโยนหมูใส่ท้ายเรือ 10 ครั้ง มีเพียงครั้งเดียวที่โดนใบพัดเรือ ดังนั้นแสดงให้เห็นว่าโอกาสน้อยมากที่ใบพัดเรือจะดูดร่างแตงโมเข้าไป โดยนายอัจฉริยะยังระบุอีกว่าคนที่ใช้ชื่อไอยรา 4 กล่าวกับบุคคลภายนอกในลักษณะอึดอัดใจ ไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปว่าบาดแผลเกิดจากใบพัดเรือ และอึดอัดใจ เนื่องจากเป็นเพียงผู้ใต้บังคับบัญชาของพลตำรวจตรี ว. ซึ่งมีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ เพราะเป็นสายตรงของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
นอกจากนี้ นายอัจฉริยะยังติดใจเรื่องการสรุปว่าแตงโมตกจากท้ายเรือ และการที่แตงโมจับขาแซน ทั้งที่ไม่มีหลักฐานอื่น นอกจากคำให้การของคนบนเรือ เพราะเวลาเรือแล่นอยู่ น้ำจะท่วมกาบเรือ อยู่ตรงนั้นไม่ได้ พร้อมยืนยันว่าตนเองไม่ได้มีเจตนาทำลายความเชื่อมั่นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือสถาบันนิติเวช เพียงต้องการหาความจริงคดีแตงโม
ส่วนประเด็นการตรวจพบยาเสียสาวในร่างกายของ 1 ในคนบนเรือนั้น ส่วนตัวไม่ได้ติดใจ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีข่าวว่าบางคนเครียด ต้องรับประทานยาคลายเคลียดเพื่อให้นอนหลับ แต่ตนเองติดใจเรื่องที่พลตำรวจตรี ว. ไม่ยอมตรวจสารเสพติดและแอลกอฮอล์ในร่างกายของแซนมากกว่า
ขณะที่ประเด็นที่ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ตั้งคำถามว่าทำไมตนเองถึงไม่นำหลักฐานไปมอบให้นั้น ก็เพราะตำรวจภูธรภาค 1 ไม่น่าเชื่อถือ บางคนเคยทำคดีลัลลาเบล และศาลยกฟ้อง ขณะที่บางคนเคยให้พนักงานสอบสวนตัวปลอมมาทำสำนวนในโรงพักนานถึง 2 ปี จนถูกจับได้ ดังนั้นตนเองจึงไม่เชื่อมั่นในคณะทำงานชุดนี้ และที่กล่าวว่าตนเองเปิดเผยข้อมูลเพียงบางส่วนนั้น ก็เพราะหากตนเองเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด ก็จะถูกดำเนินคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และนำความลับทางราชการมาเปิดเผย รวมถึงอยากฝากถามถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่าเหตุใดจึงไม่กล้ามาแถลงข่าวคดีนี้ด้วยตนเองเหมือนคดีน้องชมพู่ ทั้งที่ก็เป็นคดีที่คนสนใจทั้งประเทศ
ขณะที่ฝั่งคุณแม่ของแตงโมเอง ก็ไม่ควรมาตำหนิคนที่ออกมาช่วยหาความจริงให้การเสียชีวิตของลูกสาว แต่ส่วนตัวไม่อยากพูดเยอะ เพราะแม่แตงโมก็เป็นผู้ใหญ่แล้ว บอกได้เพียงว่าแม่ได้กุนซือไม่ดี หากได้กุนซือดีคงไม่เป็นเช่นนี้
ด้าน พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ล่าสุด ได้รับหนังสือผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ตามที่มีการยื่นเรื่องขอผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี กรณีใช้ดุลพินิจโดยมิชอบด้วยกฎหมายและเลือกปฏิบัติในการตรวจหาสารเสพติดและแอลกอฮอล์ในร่างกายของประจักษ์พยานจำนวน 3 คน แต่ไม่ตรวจหาสารเสพติด ในร่างกายของประจักษ์พยานอีก 2 คนแล้ว
ซึ่งผลสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2565 พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี ประสานเจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าเก็บตัวอย่างเลือดจากพยานบุคคล (สถานะในเวลานั้น) ที่อยู่ในเรือลำเกิดเหตุ จำนวน 3 คน ในระหว่างเวลา 12.07 น. ถึงเวลา 13.30 น.
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มี.ค.2565 พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี ได้ส่งตัวอย่างเลือดดังกล่าวไปยังสถาบันนิติเวชวิทยา เพื่อตรวจหรือทดสอบหาปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดและตรวจหาสารเสพติดในร่างกายของทั้ง 3 คน ดังกล่าว ผลการตรวจพิสูจน์ตัวอย่างเลือดโดยวิธี Gas Chromatography ตรวจไม่พบแอลกอฮอล์แต่อย่างใด
“แต่ผลการตรวจหาสารเสพติดของพยานบุคคลมี 1 ใน 3 คน ตรวจพบสารกลุ่ม เบนโซไดอาซีปีน (Benzodiazepine) ชนิด อัลปราโซแลม (Alprazolam) โดยจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท”
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2565 ตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี ได้ประสานให้แพทย์และเจ้าหน้าที่ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ตรวจร่างกาย สารเสพติด และเก็บชีววัตถุของพยานบุคคล (สถานะเวลานั้น) จำนวน 5 คน ที่อยู่ในเรือลำเกิดเหตุ โดยเก็บตัวอย่างปัสสาวะจากพยานบุคคล จำนวน 3 คน และปัสสาวะและเลือดจำนวน 1 คน แต่พยานบุคคลที่อยู่ในเรือลำเกิดเหตุจำนวน 1 คน ไม่ได้เก็บตัวอย่างใด ๆ เนื่องจากเจ้าตัวไม่ยินยอมให้เก็บตัวอย่างเลือดและปัสสาวะ
เลขาธิการฯ ระบุ หากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับการชี้แจงข้อเท็จจริงจากตำรวจภูธรภาค 1 ครบถ้วนแล้ว จะเร่งรัดสรุปผลการวินิจฉัยโดยเร็ว
ทั้งนี้ สำหรับอัลปราโซแลม ปัจจุบันมีการควบคุมการใช้อย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด เช่น นำไปผสมในสารเสพติดอื่นๆ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะทำให้เกิดผลข้างเคียง คือ มีอาการง่วงซึม มึนงง สะลึมสะลือ ไร้สติ ไม่รู้สึกตัว สูญเสียการทรงตัว และหลงลืมหรือสูญเสียความทรงจำ โดยจะจำเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ได้หลังจากที่รับประทานยาไปแล้ว ในอดีตมีการให้คำนิยามว่า “ยาเสียตัว” หรือ “ยาเสียสาว” ส่วนฤทธิ์ของยาจะคงอยู่ไม่เกิน 1 วัน
ส่วนในทางการแพทย์ ถูกนำมาใช้เพื่อรักษาภาวะวิตกกังวล และการใช้ยานี้จะต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น สำหรับผู้มีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ ต้องโทษจําคุกตั้งแต่ 1 – 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ส่วนผู้เสพ ต้องโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ.-สำนักข่าวไทย