สธ. 9 พ.ค.-สธ.ปรับลดระดับเตือนภัยเหลือ 3 หลังภาพรวมการติดเชื้อของไทยลดลง 23 จว. ทรงตัว ส่วนอีก 54 จว. ดีขึ้น ย้ำไทยพ้นการระบาดใหญ่ กำลังเข้าสู่โรคประจำถิ่น แต่ตัวชี้วัดสำคัญคือการรับวัคซีน ส่วนสายพันธุ์ที่พบในไทย เป็นโอไมครอน BA.2 แต่ยังต้องมีการเฝ้าระวังตรวจหาเชื้อต่อไป
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากสถานการณ์ทั่วโลกที่การติดเชื้อโควิดเริ่มปรับลดลง และยังคงเหลืออยู่บ้างบางประเทศที่มีการติดเชื้อสูง โดยวันนี้พบการติดเชื้อ 6,488 คน เสียชีวิต 55 คน และเสียชีวิตสะสม 7,445 คน รักษาหาย 12,755 คน ขณะที่ยอดปอดอักเสบ 1,522 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 738 คน ทั้งนี้เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น และพบว่าแนวโน้มผู้ป่วยติดเชื้อทรงตัว ทางกระทรวงสาธารณสุข จึงได้เห็นชอบประกาศลดระดับเตือนภัยโควิด-19 จากระดับ 4 เหลือระดับ 3 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยสาระสำคัญของประกาศระดับ 3 ได้แก่ ทุกคนงดการเข้าสถานบันเทิง และเลี่ยงเข้าสถานที่ที่เป็นระบบปิด หรือมีระบบระบายอากาศไม่ดี และสถานที่แออัด ส่วนการทำกิจกรรมในคนหมู่มาก กลุ่มเสี่ยง 608 หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ซึ่งนับที่วัคซีน 3 เข็ม ให้เลี่ยงการรวมกลุ่มกับคนจำนวนมาก ส่วนการเดินทางข้ามพื้นที่/ข้ามจังหวัด กลุ่มเสี่ยง 608 หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์เลี่ยงใช้บริการขนส่งสาธารณะทุกประเภท สำหรับเดินทางต่างประเทศ ในกลุ่มเสี่ยง 608 หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ งดเดินทางไปต่างประเทศ คนทั่วไปเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศ
นพ.โอภาส กล่าวว่า จากข้อมูลการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อโควิด-19 พบว่า 96% เป็นผู้สูงอายุ 608 และบางส่วนก็ได้รับวัคซีนไม่ครบ หรือได้รับวัคซีนแค่ 2 เข็ม ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นภายใน 3 เดือน ขณะนี้ไทยกำลังจะเข้าสู่การพ้นการระบาดใหญ่ ใกล้เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น โดยพบว่าภาพรวม 23 จังหวัด สถานการณ์ติดเชื้อทรงตัว และ 54 จังหวัด มีสถานการณ์ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การจะพิจารณาเป็นโรคประจำถิ่น ต้องดูเรื่องอัตราการฉีดวัคซีน
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการติดตามเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิดในประเทศไทย ว่าขณะนี้สายพันธุ์ที่พบเป็นโอไมครอนทั้งหมด และพบเป็น BA.2 มากกว่า BA.1 เนื่องจากแพร่เร็วกว่า 1.4 เท่า โดยขณะนี้แม้สถานการณ์การติดเชื้อจะลดลง แต่ยังคงต้องมีการสุ่มตรวจและเฝ้าระวังสายพันธุ์ต่อไป โดยมีการสุ่มตรวจ 700-800 คนต่อสัปดาห์ ส่วนสายพันธุ์ย่อยที่ต้องจับตา ทั่วโลกขณะนี้ ได้แก่ BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 อย่างไรก็ตาม ไทยจากการตรวจพบเพียง BA.5 จำนวน 1 คน ซึ่งเป็นคนสัญชาติบราซิลเดินทางจากต่างประเทศเข้าไทยช่วงเดือน เม.ย. ซึ่งหายป่วยกลับบ้านไปแล้ว ไม่พบพบ BA.2.12.1 พบเพียง BA.2.12 จำนวน 2 คน เป็นคนสัญชาติอินเดีย และแคนาดา ช่วงเดือน เม.ย.หายแล้วเช่นกัน ทั้งนี้จากข้อมูลในต่างประเทศพบว่าผู้ที่เคยติดโอไมครอนสายพันธุ์ BA.1 แล้วภูมิคุ้มกันไม่สามารถป้องกันเชื้อสายพันธุ์ BA.4, BA.5 ได้มากพอ แต่ในผู้ติดเชื้อที่เคยฉีดวัคซีนภูมิฯ จะยังสามารถป้องกัน BA.4, BA.5 ได้มากกว่า
ส่วนกรณีที่ไทยเคยตรวจพบสายพันธุ์ใกล้เคียงเชื้อสายพันธุ์ลูกผสม หรือไฮบริด XJ แล้วส่งข้อมูลให้ GISAID ไปนั้น ล่าสุดปรากฏว่า GISAID ไม่ได้รับรองตัวอย่างของไทย ว่าเข้ากับสายพันธุ์ X ใด ๆ ตามนิยามของ GISAID จึงยืนยันว่าไทยยังไม่พบเชื้อสายพันธุ์ลูกผสม แต่จะยังคงเฝ้าระวังต่อไป.-สำนักข่าวไทย