กทม. 19 มี.ค.-สธ.ขอประชาชนมั่นใจยาฟาวิพิราเวียร์ ไม่ด้อยค่า โชว์ผลศึกษาเทียบประสิทธิภาพกลุ่มผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง ที่รับยาฟาวิพิราเวียร์ พบอาการดีขึ้นกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับ 79%
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ร่วมกันแถลงในประเด็น ประโยชน์ของการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ไทยยังมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก ตามหลักการกำหนดแนวทางการนรักษาการใช้ยาต่อโรคระบาดนั้นจะต้องคำนึง เช่น ประสิทธิภาพของยา ยาต้องปลอดภัย และคำนึงถึงสถารการณ์ระบาดด้วย โดยเฉพาะหากมีผู้ป่วยจำนวนมาก ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาที่สามารถหาได้ง่าย ราคาไม่สูง และหากได้รับตั้งแต่เนิ่นๆก็พบว่าผู้ป่วยอาการดีขึ้น หายกลับบ้านได้เร็ว ชี้แจงว่าที่ผ่านมาการใช้ยาใดๆ มีการพิจารณาผ่านคณะผู้เชี่ยวชาญมาเป็นระยะๆ และมีการศึกษาศูนย์วิจัยของหลายหน่วยงาน
พร้อมยกการศึกษาวิจัยการใช้ยาฟาวิฯ กลุ่มที่อาการไม่รุนแรง ประเมินผลจากอาการโควิดและปริมาณไวรัสในโพรงจมูกเปรียบเทียบ ผู้ป่วย 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ได้รับยาฟาวิฯ และอีกกลุ่มไม่ได้รับ โดยผลการศึกษาใน 14 วัน พบว่ากลุ่มที่ได้รับยาฟาวิฯ มีอาการดีขึ้น 79% เทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยา โดยเป็นการได้รับยาในสูตรปกติที่ใช้ในขณะนี้ คือ ให้ฟาวิพิราเวียร์วันละ 1800 มก.วันละ 2 ครั้ง ในวันแรก ต่อด้วยขนาด 800 มก.วันละ 2 ครั้ง ในวันต่อมานานอีก 4 วัน จากข้อมูลวิจัยจากการใช้ที่ผ่านมาจึงยืนยันได้ว่า เป็นยาที่ควรเริ่มเร็วและช่วยลดอาการป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงได้อย่างมีนัยสำคัญ และที่ผ่านมาใช้ยาตัวนี้รักษาผู้ป่วยไปมากกว่า 1 ล้านคนแล้ว ยืนยันขอให้เชื่อมั่นในยาที่ สธ.พยายามจัดหาที่ดีที่สุด
ด้าน นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการรักษาโควิด-19 ด้วยยาต้านไวรัสในภาพรวม โดย สธ.มีการติดตามและปรับแนวทาง รักษาเป็นระยะ ยาฟาวิพิราเวียร์ ไทยใช้มา 2 ปี ซึ่งยาช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสและที่ผ่านมาใช้ได้ผลดีช่วยให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่หาย เป็นยาแบบทาน สำหรับกลุ่มอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ยาเรมดิซิเวียร์ ออกฤทธิ์จุดเดียวกับฟาวิฯ แต่จุดเด่นตัวนี้ ให้ทางหลอดเลือดดำ ใช้สำหรับกลุ่มที่ทานยาไม่ได้ หรือมีปัญหาดูดซึม หรือกลุ่มตั้งครรภ์, โมลนูพิราเวียร์ เป็นยาที่ไทยอยู่ในขั้นเตรียมความพร้อมของการกระจายหากได้รับการอนุมัติจาก EOC สธ.และ ศบค. ตัวนี้เป็นยาสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการรุนแรง, แพกซ์โลวิด เป็นอีกตัวที่ใช้สำหรับผู้ป่วยโควิดที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรง กลไกออกฤทธิ์ที่เอนไซม์ ทำให้เชื่อลดจำนวนลง และยังพบว่ายาตัวนี้มีประสิทธิภาพสูง จึงเตรียมสำรองไว้ใช้สำหรับประชาชน คาดกลางเดือนหน้าจะได้รับนำเข้ามาและกระจายใช้ต่อไป
นพ.มานัส เผยยาแต่ละตัวมีข้อดีเสียต่างกัน แพทย์จะพิจารณาตามกลุ่มอาการ ขณะที่อีกประเด็นที่ต้องพิจารณาในการจัดหา คือความพร้อมการใช้งาน การจัดหาได้สะดวก และเรื่องของราคายาที่ต้องพิจารณาประกอบเป็นภาพรวม เช่น ยกตัวอย่างยา 1 คอร์สการรักษา ฟาวิพิราเวียร์อยู่ที่ 800 บาท เรมดิซิเวียร์ 1,512 บาทต่อคร์อส ส่วนโมลนูพิราเวียร์ และแพ็กโลวิด อยู่ที่ประมาณถึง 10,000 บาทคร์อสการรักษา
กรมการแพทย์ ยืนยันฟาวิพิราเวียร์ มีประสิทธิภาพใช้ทั้งในไทยและอีกหลายประเทศก็ยังใช้ การได้มาของแนวทางการรักษาก็จะมีการปรับเปลี่ยน ปรับปรุงได้ จำแนกตามแนวทางโรค แบ่งตามกลุ่มอาการ ขอให้มั่นใจว่า สธ.มีแนวทางการรักษาที่มีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสม และประเมินปรับเปลี่ยนแนวทางที่ดีที่สุดอยู่เสมอ.-สำนักข่าวไทย