กรุงเทพฯ 14 ม.ค.-“เฉลิมชัย” รมว.เกษตร ยืนยันพร้อมตอบทุกประเด็นเกี่ยวกับโรค ASF ไม่ปกปิดข้อมูล ตลอดจนเร่งช่วยเหลือเกษตรกรด่วนที่สุด พร้อมหารือทุกภาคีเครือข่ายเพื่อควบคุมโรคให้สงบและขอคืนสภาพปลอดโรคจาก OIE โดยเร็ว
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ไม่เคยปกปิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) โดยกรมปศุสัตว์เฝ้าระวังป้องกันโรคมาตั้งแต่ปี 2561 ที่พบการระบาดในประเทศจีน แล้วติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอดจนเตรียมพร้อมรับมือต่อโรคมาโดยตลอด ที่ผ่านมาสั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรค จัดทำแผนเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค ASF (contingency plan) และแนวทางเวชปฏิบัติของโรค ASF ในสุกร (Clinical Practice Guideline) ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมปศุสัตว์
นอกจากนี้ยังบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจเข้มนักท่องเที่ยวและเข้มงวดตรวจสอบการลักลอบนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันโรคเข้าประเทศ เพิ่มมาตรการเข้มงวดในการส่งออก ลดความเสี่ยงจากการส่งออกสุกร โดยห้ามรถขนส่งสุกรมีชีวิตเข้าไปส่งสุกรในประเทศที่มีการระบาด ให้ใช้รถขนถ่ายข้ามแดนในการส่งสุกรไปยังประเทศปลายทางแทน และต้องน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
ส่วนการบูรณาการความร่วมมือร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศได้แก่ องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ได้จัดประชุมความร่วมมือกับประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนามเพื่อป้องกันโรค ร่วมกับภาคเอกชนจัดตั้งโรงพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทั้งหมด 5 จุดที่ด่านกักกันสัตว์เชียงราย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร และสระแก้ว
สำหรับการสร้างความเข้าใจต่อผู้เลี้ยงและประชาชนได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ภาษาต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ลาว พม่า เขมร เป็นต้น นอกจากนี้ยังสุ่มเก็บตัวอย่างและส่งวิเคราะห์ที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติเพื่อเฝ้าระวังโรค ซึ่งยืนยันว่า ผลวิเคราะห์จากการเก็บตัวอย่างที่ผ่านมา ไม่พบเชื้อทั้งหมด แต่พบเชื้ออื่นๆ เช่น โรคกลุ่มอาการระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจในสุกร (PRRS) โรคท้องร่วงระบาดในสุกร (PED) โรคอหิวาต์สุกร (CSF) และโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) เป็นต้น
นายเฉลิมชัยกล่าวต่อว่า หลังนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ประกาศพบโรคอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 จึงสั่งการดำเนินการตามพ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ซึ่งจะต้องประกาศเขตโรคระบาดและมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบจุดที่พบโรค รวมถึงรายงานไปยังองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ซึ่งย้ำให้ดำเนินการโดยคำนึงถึงผลกระทบในทุกมิติอย่างรอบคอบเพื่อลดความเสียหายและผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตสุกรและเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด รวมทั้งขอให้ประชาชนไม่ต้องตระหนกเพราะโรค ASF เกิดเฉพาะในสุกรเท่านั้น ไม่ติดต่อสู่คน
สำหรับการทำลายสุกรนั้น เป็นไปตามมาตรการทางระบาดวิทยาที่ต้องลดความเสี่ยงเพื่อป้องกันการระบาด อาศัยอำนาจตาม พรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 พร้อมจ่ายค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย ที่ผ่านมาได้ดำเนินการขออนุมัติจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยได้ดำเนินการชดเชยค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายมาแล้ว 3 ครั้ง รวมเกษตรกรทั้งสิ้น 3,239 ราย สุกร 112,752 ตัว เป็นเงิน 470,426,009 บาท สำหรับปี 2565 ครม. อนุมัติงบประมาณในส่วนดังกล่าวแก่เกษตรกรอีก 4,941 ราย สุกร 159,453 ตัว เป็นเงิน 574,111,262.5 บาท โดยกรมปศุสัตว์จะเร่งจ่ายเงินแก่เกษตรกรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนโดยเร็วที่สุด พร้อมกันนี้จะเร่งควบคุมโรคให้สงบโดยเร็ว จากนั้นจะแจ้งต่อ OIE เพื่อขอคืนสถานภาพปลอดโรค.-สำนักข่าวไทย