สธ. 26 ต.ค.-สธ.แจงโควิดในไทยขณะนี้พบเดลตาครองประเทศ 98.6% ด้วยอำนาจการแพร่โรค ทำให้อัลฟาหดหาย เบตาลดลง และพบการกลายพันธุ์ อัลฟาพลัส มีฤทธิ์หลบภูมิคุ้มกัน 18 คน มาจากเรือนจำเชียงใหม่ 2 คน และล้งลำไย 16 คน เป็นคนไทย 4 คน กัมพูชา 12 คน ส่วนเดลตาพลัส AY.4.2 ยังไม่พบในไทย แต่แค่ AY.1 ที่ไม่รุนแรง
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการติดเชื้อไวรัสโควิด ว่า จากการติดตามสถานการณ์และสุ่มตรวจตัวอย่างของเชื้อไวรัสในไทยพบว่า ขณะนี้เชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา ได้ยึดครอง 98.6% เชื้อไวรัสสายพันธุ์อัลฟาเหลือ 0.6% หรือพบแค่ 7 คน และเบตา 0.8 % หรือ 9 คนเท่านั้น ส่วนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ การพบการระบาดของเดลตามากขึ้น ส่วนอัลฟาและเบตาลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากอำนาจการระบาดและแพร่ของเดลตาที่มากกว่า ทำให้สายพันธุ์ที่แม้มีความรุนแรงอย่างเบตา แต่อำนาจการแพร่น้อยกว่าก็ค่อยๆลดลง
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขณะนี้จากการติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสในไทย พบมีการกลายพันธุ์ของเชื้ออัลฟาเกิดอัลฟาพลัสขึ้น โดยพบว่ามีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งสำคัญอย่าง E484K ที่สามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ จึงต้องเฝ้าระวัง โดยเป็นการพบเมื่อกันยายนและตุลาคมนี้ แบ่งเป็นปลายกันยายนที่ จ.เชียงใหม่ พบ 2 คนในกลุ่มผู้ต้องขัง และเป็นกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และในตุลาคมพบที่ภาคตะวันออก จันทบุรีและตราด เป็นแรงงานล้งลำไย เป็นคนไทย 4 คน กัมพูชา 12 คน ซึ่งเชื้ออัลฟาพลัส ขณะนี้พบการระบาดในประเทศกัมพูชา สาเหตุที่น่าห่วงกังวล เพราะการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของการกลายพันธุ์ที่ E484K เดียวกับเชื้อไวรัสเบตา และแกมม่า ที่มีปัญหาเรื่องการหลบภูมิคุ้มกัน แต่ก็ยังโชคดีอัลฟาพลัสในไทยถูกเบียดด้วยเดลตา ทำให้อำนาจในการแพร่กระจายโรคไม่สูงมากและมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ ทั้งนี้เตรียมสุ่มตรวจพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย และนำตัวอย่างเชื้ออัลฟาพลัส มาทดลองในห้องปฏิบัติการว่ามีการตอบสนองต่อวัคซีนอย่างไร
ส่วนเดลตาพลัสนั้น นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจคำว่า “พลัส” กันผิด คำว่า พลัส ไม่ได้หมายความว่าเชื้อมีความรุนแรง แต่เป็นการบ่งบอกว่าเชื้อมีการกลายพันธุ์มากขึ้น โดยเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตามีการกลายพันธุ์มากถึง 47 ชนิด ทำให้ต้องกำหนดการเรียกใหม่ จากเป็นสายพันธุ์ย่อยของเดลตา โดยใช้คำนำหน้าว่า AY โดยในประเทศไทยพบสายพันธุ์ย่อยของเดลตาแบบกระจายหลากหลายชนิด พบมากที่สุดคือ AY.30 จำนวน 1,341 คน และ AY.39 จำนวน 83 คน และ AY.23 จำนวน 23 คน และยังไม่พบสายพันธุ์ย่อย เดลตา AY.4.2 ที่มีการจับตาเฝ้าระวัง เพราะมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง Y145H และ A222V ทำให้อำนาจในการแพร่โรคได้เร็วกว่าเชื้อเดลตาเดิม 10-15% ปัจจุบันพบการระบาดในอังกฤษ แต่สำหรับไทยยังไม่พบการระบาดของสายพันธุ์ย่อยนี้
นพ.ศุภกิจ กล่าว่า ส่วนไทยจากการติดตามเฝ้าระวัง ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์กองทัพบก AFRIMF พบการติดเชื้อสายพันธุ์ AY. ในคนไทย 1 คน ที่ จ.กำแพงเพชร ที่มีการรักษาตัวใน รพ.สนาม ขณะนี้รักษาหายแล้ว โดยสายพันธุ์ AY.1 ตำแหน่งที่เปลี่ยนแปลงคือ K417N ยังไม่มีอันตรายหรือการเปลี่ยนแปลงอย่างไรมีนัยสำคัญ แต่ที่มีการรายงานเพราะเคยมีการระบาดในต่างประเทศมาก่อน โดยการตรวจพบสายพันธุ์ต่าง ๆ ของกรมวิทย์ฯ จะมีการรายงานต่อ GSAID ต่อไป อย่างไรก็ตาม การเฝ้าระวังของเชื้อไวรัสโควิดในขณะนี้ก็เหลือแค่ 3 ตัวเท่านั้น คือเดลตา เบตา และแกมม่า และเชื่อว่าในอนาคตเชื้อโควิด จะค่อย ๆ อ่อนกำลังลงกลายเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนกับไข้หวัดใหญ่ แต่ตอนนี้ยังต้องสวมหน้ากากอนามัย และหมั่นล้างมือ
นายสาธิต กล่าวว่า การรายงานพบอัลฟา พลัส และเดลตาพลัส ไม่ได้มีผลกับความเชื่อมั่นในการเปิดประเทศ 1 พ.ย.เพราะเป็นคนละส่วนกัน และเป็นการติดตามเฝ้าระวังของไทย และมีการรายงานอย่างโปร่งใสมาตลอด อีกทั้งการเปิดประเทศ จะมีการระบบการเฝ้าระวังและตรวจเชื้อด้วย RT-PCR ก่อน กำหนดให้โรงแรมที่พักและตรวจหาเชื้อต้องอยู่ใกล้สนามบิน ในระยะเวลาการเดินทางไม่เกิน 2 ชั่วโมง .-สำนักข่าวไทย