กทม. 29 ก.ย. – เขื่อนใหญ่ยังทยอยเพิ่มการระบายน้ำต่อเนื่อง ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบายน้ำเพิ่มอีก 155 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตอนนี้มีน้ำอยู่ในเขื่อนมากถึง 99.27% ต้องเพิ่มการระบายน้ำออกเช่นกัน พร้อมไขคำตอบ น้ำที่ท่วมในจังหวัดต่างๆ ทั้งภาคเหนือ อีสาน ท่วมแล้วมวลน้ำไปไหนต่อ
สถานการณ์เจ้าพระยา จุดศูนย์รวมของแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน อยากให้มาดูความแตกต่างปริมาณน้ำ 2 เขื่อนใหญ่ อย่างเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ เทียบวันนี้กับปี 54 โดยวันนี้เมื่อปี 54 เขื่อนภูมิพลมีปริมาตรน้ำมากถึง 12,382 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 92 % ของความจุ ส่วนวันนี้เขื่อนภูมิพลมีน้ำอยู่ 6,431 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 48% ของความจุ (วานนี้ 6,285 / 47%)
ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ วันนี้เมื่อปี 54 มีน้ำอยู่ถึง 9,399 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 99% ของความจุ เรียกว่าแทบจะเต็มความจุ แต่วันนี้เขื่อนสิริกิติ์มีน้ำอยู่เพียง 4,117 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 43 % ของความจุ (วานนี้ 4,091 / 43 %)
ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แม้ไม่ใช่เขื่อนใหญ่ แต่เป็นอีกจุดที่น่าจับตา เพราะน้ำจะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นกัน และตอนนี้มีปริมาณน้ำในเขื่อน 953 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 99.27% ทำให้ต้องระบายน้ำเพิ่มจาก 34.56 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เป็น 51.89 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่หากทียบกับวันนี้เมื่อปี 54 ยังถือว่าต่างกันพอสมควร เพราะวันนี้เมื่อปี 54 มีการระบายน้ำออก 77.82 ล้านลูกบาศก์เมตร
ขณะที่เขื่อนพระรามหก จุดรับน้ำต่อจากเขื่อนป่าสักฯ วันนี้มีน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 461 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนวันนี้เมื่อปี 54 มีน้ำไหลผ่าน 1,214 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ส่วนเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท จุดศูนย์รวมน้ำ วันนี้ติดป้ายแจ้งเตือนการระบายน้ำเพิ่มอีก ทำให้ปริมาณน้ำไหลผ่านลุ่มเจ้าพระยา จุดเหนือเขื่อนที่สถานีค่ายจิรประวัติ จ.นครสวรรค์ มีน้ำไหลผ่าน 2,683 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที น้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง 1.79 เมตร (เมื่อวาน 2.17 น.) ปริมาณสูงสุดที่รับได้ คือ 3,590 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนวันนี้เมื่อปี 54 มีน้ำไหลผ่าน 4,344 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ส่วนท้ายเขื่อนเจ้าพระยา วันนี้เมื่อปี 54 ระบายน้ำ 3,646 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่วันนี้ระบายน้ำ 2,749 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปรับเพิ่มจากเมื่อวานที่ระบายออก 2,631ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนความจุของน้ำสูงสุดที่ 2,840 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ไล่ลงมาที่สถานีบางไทร อยุธยา วันนี้เมื่อปี 54 มีน้ำผ่านเฉลี่ย 3,224 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่วันนี้เฉลี่ย 2,561 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (เมื่อวาน 2,311) ขณะที่ความจุลำน้ำอยู่ที่ 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ย้อนกลับไปเมื่อวาน (28 ก.ย.) นอกจากเทียบปริมาณน้ำไหลผ่านและความจุในการกักเก็บน้ำของอ่างต่างๆ กับปี 54 แล้ว อยากให้ดูจุดสีเหลือง สีแดง ที่เป็นตัวชี้วัดสถานการณ์น้ำอีกตัวหนึ่ง คือ สีเขียว ปกติ สีเหลืองวิกฤติ และสีแดงคือน้ำท่วม โดยวันนี้ปริมาณน้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมา เส้นทางน้ำที่ผ่านสิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ยังเป็นสีเหลือง (วิกฤติ) เหมือนเดิม แต่ในบางส่วนของอยุธยา พื้นที่ ต.บางบาล ที่เป็นคอขวด และรับทั้งการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ป่าสักฯ และเขื่อนพระรามหก ยังคงเป็นสีแดง (น้ำท่วม) ส่วนสถานีบางไทร อยุธยา ปลายทางก่อนน้ำจะไหลมานนทบุรี และปทุมธานี จุดนี้น่าจับตา เพราะเมื่อวานยังเป็นสีเขียว (ปกติ) แต่วันนี้กลับเปลี่ยนเป็นสีเหลือง (วิกฤติ)
ส่วนน้ำที่ท่วมอยู่ในหลายจังหวัดไปทางไหนต่อ มีคำตอบให้ โดยแยกเป็นรายจังหวัดน้ำท่วมหนักตามที่ ปภ.รายงาน เริ่มจากที่ชัยภูมิ น้ำที่ท่วมในตัวเมืองจะค่อยๆ ไหลลงแม่น้ำชี ไปต่อที่ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร ก่อนไหลไปรวมแม่น้ำมูล ที่ อ.กันทรารมย์ ศรีสะเกษ ต่อไปที่อุบลราชธานี เขื่อนปากมูล และลงแม่น้ำโขง
ส่วนน้ำท่วมโคราช จะไหลลงแม่น้ำมูล ไปต่อที่บุรีรัมย์ สุรินทร์ รวมกับแม่น้ำชี ที่ อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ และไปต่อที่อุบลฯ เขื่อนปากมูล ลงแม่น้ำโขง
เริ่มมองเห็นภาพใหญ่แล้วว่า อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ จะเป็นศูนย์รวมของน้ำท่วม ก่อนไปต่อที่อุบลราชธานี และไหลลงเขื่อนปากมูล และแม่น้ำโขง ซึ่งต้องจับตาว่าศรีสะเกษและอุบลฯที่มีมวลน้ำมารวมกันจำนวนมากจะทำให้เกิดน้ำท่วมหรือไม่
จากนั้นไปดูต่อกันที่น้ำท่วมเพชรบูรณ์ ที่มีแม่น้ำป่าสักไหลผ่าน น้ำก็ไหลสมทบเข้าเขื่อนป่าสักฯ ซึ่งตอนนี้พื้นที่เก็บน้ำเริ่มวิกฤติ จากนั้นน้ำจะไหลผ่านสระบุรี และลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จ.อยุธยา ก่อนเข้ากรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อหาทางออกสู่อ่าวไทย
ขณะที่น้ำท่วมสุโขทัยปีนี้มีน้ำเยอะ กรมชลฯ บอกว่าเกิดจากฝนตกติดต่อกัน แม่น้ำยมก็จะไหลไปที่พิษณุโลก ก่อนเข้าแม่น้ำน่านที่นครสวรรค์ ลงแม่น้ำเจ้าพระยา ไปต่อที่อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และไปสมทบกันที่แม่น้ำป่าสัก อยุธยา ต่อมากรุงเทพฯ ปริมณฑล และเหมือนเดิมคือหาทางออกลงอ่าวไทย. – สำนักข่าวไทย