อสมท 11 ต.ค.-หลังจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เตือนแทบทุกภาคของไทย เฝ้าระวังผลกระทบทางอ้อมจากพายุไลออนร็อกในช่วงสัปดาห์นี้ เพราะผลกระทบดังกล่าวทำให้เกิดฝนตก น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ และล้นตลิ่ง วันนี้เรามีข้อมูลคาดการณ์เส้นทางที่เมื่อน้ำมีการระบายออกแล้วจะทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง รวมถึงวันที่ที่คาดการณ์ว่าน้ำจะลดมาให้ติดตาม
สำนักข่าวไทยตรวจสอบข้อมูลปริมาณน้ำจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) และศูนย์อุทกวิทยาชลประทาน พร้อมกับเปรียบเทียบให้เห็นกันแบบชัดๆ ถึงสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยพบว่าที่ผ่านมามีพื้นที่ 2.75 ล้านไร่ที่ถูกน้ำท่วม แต่ด้วยการเร่งระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ตอนนี้มีพื้นที่น้ำท่วมลดลงเหลือ 1.8 ล้านไร่
ส่วนปริมาณน้ำไหลผ่านลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไล่เรียงตั้งแต่เหนือเขื่อน พบว่า ที่สถานี C2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ วันนี้วัดได้ 2,371 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งไม่ใช่ตัวเลขที่สูงที่สุด เพราะเคยสูงสุด 2,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้วันนี้ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง 2.49 เมตร และ กอนช.คาดการณ์ว่าน้ำจะลดในวันที่ 18 ตุลาคม ส่วนที่ท้ายเขื่อนที่ชัยนาท วันนี้ระบายน้ำ 2,520 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที น้อยกว่าวันที่เคยปล่อยน้ำสูงสุด 2,801 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ส่วนเขื่อนป่าสักก่อนหน้านี้เคยปล่อยน้ำสูงสุดถึง 1,207 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่วันนี้มีน้ำไหลผ่านในอัตราเพียง 451 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (22 ต.ค.53 สูงสุด 1,305 ลบ.ม./วินาที) ทำให้วันนี้เขื่อนพระรามหก ที่เป็นจุดรับน้ำต่อจากเขื่อนป่าสัก ตรงจุดนี้เคยมีน้ำไหลผ่านสูงสุด 790 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่วันนี้ปริมาณน้ำได้ไหลผ่านน้อยลง เหลือเพียง 676 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งหากไม่มีปัจจัยอื่นมากระทบ กอนช. คาดการณ์น้ำจะลดในวันที่ 15 ตุลาคม ส่วนอำเภอท่าเรือ จังหวัดอยุธยา ท้ายเขื่อนพระรามหก ที่แม้ตอนนี้พื้นที่ยังมีจุดสีแดงแจ้งเตือนน้ำท่วม แต่จากตัวเลขน้ำไหลผ่านที่เคยสูงสุด 946 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที วันนี้ลดลงเหลือ 802 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้คาดการณ์กว่า ในวันพรุ่งนี้ (12 ต.ค.) ระดับน้ำจะค่อยๆ ทยอยลดลง
และหากไล่ไปตามแผนที่น้ำอีกครั้ง จะเห็นว่าในจุดอำเภอบางไทร จังหวัดอยุธยา จุดบรรจบของน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และพระรามหก แม้ตัวเลขน้ำไหลผ่านในวันนี้จะอยู่ที่ 2,963 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ปริมาณน้ำไหลผ่านที่เคยสูงสุดคือ 3,104 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำอาจลดลงวันที่ 20 ตุลาคม
นอกจากการระบายน้ำลงเขื่อนและอัตราการไหลผ่านของน้ำ อีกปัจจัยที่จะช่วยให้น้ำลดระดับ หรือไม่ล้นตลิ่ง คือการผันน้ำเข้าทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา 10 ทุ่ง ซึ่งตอนนี้ต้องบอกเลยว่า 5 ใน 10 ทุ่ง คือ ทุ่งเชียงราก ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบางบาล-บ้านแพน ทุ่งเจ้าเจ็ด ยังรับน้ำได้อีก
ส่วนอีสาน ที่ตอนนี้การระบายน้ำท่วมผ่านลุ่มน้ำชี-มูล เพื่อรับมือกับพายุ ทำให้หลายจังหวัดมีน้ำเกินตลิ่ง สำนักข่าวไทยตรวจสอบข้อมูลคาดการณ์ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ พบว่า ในวันนี้สถานีวัดระดับน้ำในอำเภอเมืองมหาสารคาม มีระดับน้ำเกินตลิ่งสูงสุด 1 เมตร ส่วนอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร น้ำสูงกว่าตลิ่ง 1 เมตร 50 เซนติเมตร และในอีก 1 วัน (12 ต.ค.) เมื่อน้ำไหลต่อมาที่ร้อยเอ็ด จะทำให้พื้นที่อำเภอจังหาร มีน้ำสูงกว่าตลิ่ง 1 เมตร 50 เซนติเมตร จากนั้นอีก 3 วัน (15 ต.ค.) อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด จะมีระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 1 เมตร ส่วนอำเภอเมืองยโสธร อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม และอำเภอเมืองอุบลราชธานี กอนช.คาดการณ์ว่าสถานการณ์สูงสุดในการเกินตลิ่งได้ผ่านพ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 2-9 ตุลาคม .-สำนักข่าวไทย