อสมท 29 ก.ย.-มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เปิดเผยการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วมปี 2564 จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำรอยปี 2554 หรือไม่ ซึ่งทั้งหมดต่างเห็นว่าไม่น่าจะซ้ำรอยเหตุการณ์มหาอุทกภัย
เมื่อวานนี้ (28 ก.ย.) เพจ Facebook มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เผยแพร่ความเห็นสถานการณ์น้ำในปี 2564 เปรียบเทียบกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี 54 จากความเห็นของนักวิชาการต่างๆ หลังจากเกิดกระแสวิตกกังวลว่าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำรอยปี 2554
ความเห็นแรกจากนายปราโมทย์ ไม้กลัด รองปธ.กก.มูลนิธิ “สภาเตือนภัย” พิบัติแห่งชาติ อดีตอธิบดีกรมชลประทาน เห็นว่าทั้งข้อมูลปริมาณฝน ปริมาณน้ำกักเก็บ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ในขณะนี้มีน้อย หากเปรียบเทียบกับในห้วงเวลาเดียวกันเมื่อปี 54 จึงมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่เช่นปี 54
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ รองปธ.กก.มูลนิธิ “สภาเตือนภัย” ให้ความเห็นว่า แม้ว่าขณะนี้แม้จะมีกรณีน้ำท่วมเกิดขึ้นในหลายจังหวัด แต่โอกาสน้ำท่วม กทม.เหมือนปี 54 มีโอกาสเป็นไปได้น้อย เว้นแต่จะมีน้ำระบายไม่ทันทำให้เกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน
ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ หรือ สสน. เห็นว่า ณ เวลานี้ เมื่อปี 54 เขื่อนภูมิพล – เขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำเต็มความจุ 22,000 ล้าน ลบ.ม. แต่ขณะมีปริมาณน้ำอยู่ประมาณครึ่งเดียว หากมีพายุเข้ามา ทั้ง 2 เขื่อน ยังดักน้ำได้อีกมาก แม่น้ำเจ้าพระยาก็ยังอยู่ในระดับต่ำ และมีการสร้างคันกั้นน้ำให้สูงขึ้น คิดว่าปีนี้จะไม่เกิดน้ำท่วม กทม. เหมือนปี 54 แน่นอน
ดร.ณัฐ มาแจ้ง นักวิชาการ ม.เกษตรศาสตร์ ระบุ ในปี 54 กราฟน้ำท่วมมีฐานกว้างมาก ทำให้มีน้ำเติมเข้าทุ่งเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมากและนาน ทำให้เกิดน้ำท่วมขนาดใหญ่ ในขณะที่ปีนี้อีกไม่นาน (คาดว่า 1-3 สัปดาห์) อัตราการไหลที่นครสวรรค์จะคงที่และเริ่มลดลง เนื่องจากฝนจะลดลงในช่วงอาทิตย์ข้างหน้า ทำให้มีน้ำเติมลงมาน้อยกว่าเดิมนั่นเอง
สำหรับน้ำที่ไหลลงมาเกือบ 2,500 ลบ.ม./วินาที ส่วนใหญ่จะระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลงแม่น้ำเจ้าพระยาด้านท้ายน้ำ และทุกคนรู้ว่าคอขวดการไหลอยู่ที่อยุธยา ซึ่งรับน้ำได้ประมาณ 1,200 ลบ.ม./วินาที หลายคนจะบอกว่าน้ำลงมา 2,500 ลบ.ม. อยุธยารับได้ 1,200 ลบ.ม. อย่างนี้ท่วมแน่ๆ แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น แม่น้ำเจ้าพระยาท้ายเขื่อนชัยนาท จะมีคลองลพบุรี และคลองบางแก้ว รับน้ำออกทางฝั่งซ้าย รวมถึงมีคลองโผงเผง และคลองบางบาลรับน้ำออกทางฝั่งขวา รวมความสามารถ 818 ลบ.ม./วินาที แต่ด้วยสภาพพื้นที่ลุ่มต่ำแถวๆ บางบาล ทำให้มีน้ำท่วมขังเปรียบเสมือนแก้มลิงธรรมชาติก่อนที่จะไหลลงมาที่อยุธยา และน้ำจากคลองต่างๆ เหล่านี้รวมกับแม่น้ำป่าสักจะไหลลงมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณด้านใต้ของอยุธยา ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่บางไทรลงมา จะสามารถรับน้ำได้ถึง 3,500 ลบ.ม./วินาที
ดังนั้น น้ำที่ลงมาในปีนี้จนถึงวันนี้จึงไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครแต่อย่างใด และถ้ามีฝนตกลงมาอีกในเดือนหน้จะคาดหมายได้ว่าน่าจะลงมาในบริเวณทุ่งเจ้าพระยาตอนกลางและตอนล่าง ซึ่งน้ำที่เกิดจากน้ำฝนบริเวณนี้ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมขังเป็นบางพื้นที่ในส่วนที่มีฝนตกหนักมาก แต่จากสภาพพื้นที่ที่ราบมาก น้ำจะไม่ไหลบ่าอย่างรุนแรง และจะค่อยๆ ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมักจะไม่ก่อให้เกิดปัญหากับพื้นที่ตอนล่างเท่าใด
โดยสรุป พื้นที่กรุงเทพฯ และใกล้เคียง ยังไม่น่าต้องห่วงว่าน้ำจะท่วมจากฝนที่ตกในรอบนี้ แต่ถ้าจะลุ้นว่าท่วมไหมก็อาจมีจากฝนที่ตกหนักเฉพาะจุดในพื้นที่ตัวเองมากกว่า.-สำนักข่าวไทย