กรุงเทพฯ 22 ก.ย.-นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมประจำปี 2564 ของสภาพัฒน์ ระดมสมองทุกภาคส่วน ยกร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 13 เริ่มใช้ปี 2566-2570 ตั้ง 5 เป้าหมายสู้การเปลี่ยนแปลง MEGA TREND วิกฤติภายใน-ภายนอกนอกประเทศ
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมประจำปี 2564 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ผ่านระบบออนไลน์ และปฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “พลิกโฉม อนาคตประเทศไทย” ระบุว่า การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งจะเป็นแผนขับเคลื่อนประเทศที่นำมาใช้เป็นฉบับที่ 2 ภายใต้กรอบเวลาการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งรัฐบาลวางไว้ และแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 นี้ จะนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2566-2570 ซึ่งรัฐบาลต้องการให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนรวมในการจัดทำแผน ที่นำไปสู่แนวปฏิบัติ เพื่อให้ทันต่อสู้ต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกด้าน ช่วยให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้
ทั้งนี้ปัจจุบัน ประเทศไทยเผชิญต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก ที่เป็น MEGA TREND เช่น การระบาดของไวรัสโควิด-19 การที่ประเทศไทยก้าวสูสังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและค่านิยม การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมคน ปัญหาภาวะโลกร้อน ทำให้ทุกคนในโลก ต้องปรับตัว เข้าสู่การใช้ชีวิตแบบปกติใหม่ หรือ NEW NORMAL ซึ่งประเทศไทย ต้องนำเอาปัจจัยความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ มาพิจารณา จุดอ่อนจุดแข็งเพื่อปรับตัว ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทั้งหมด
“ยืนยันว่าในการแก้ปัญหาวิกฤติโควิด-19 นั้น รัฐบาล ได้นำแผนแก้ปัญหาเฉพาะกิจมาใช้ในปี 2564-2565 มุ่งมั่นที่จะให้ประเทศสามารถก้าวผ่านปัญหาวิกฤติไปให้ได้ ให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เร็วที่สุด โดยการกระจายการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง ลดความเสี่ยงจาการป่วยหนัก และเสียชีวิต และออกมาตรการเศรษฐกิจเพื่อเยียวยา ทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ” นายกรัฐมนตรีกล่าว
โดยนายกรัฐมนตรี ระบุด้วยว่า รัฐบาลมีการกำหนด 5 เป้าหมาย คือ 1 การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตของประเทศไทย ให้มีฐานจากนวัตกรรม เพื่อทำให้ภาคการผลิต ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และการค้าของโลก ส่งเสริมการวิจัย 2. การพัฒนาคน ให้มีความสามารถ คุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งมาจากปฏิรูปการเรียนการสอน 3 การสร้างสังคมโอกาส ขจัดความเหลื่อมล้ำ ที่รัฐบาลทำไปแล้ว ผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยผู้สูงอายุ สนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา โครงการหลักประกันด้านสาธารณสุข 4.การสร้างความยั่งยืนให้ประเทศ มุ่งเน้นคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศ รับมือการเปลี่ยนแปลนสภาอากาศ เช่นการเพิ่มพื้นที่ปลูกป่า แก้ปัญหามลพิษ PM 2.5 และ 5 การเตรียมความพร้อมให้แก่ประเทศ รองรับความเสี่ยงและการแข่งขันโลกใหม่ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ แบบไร้รอยต่อ เช่นการพัฒนารถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าในเมือง การขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยาน นานาชาติสุวรรณภูมิ เป็นต้น
นายกรัฐมนตรีย้ำว่า การขับเคลื่อนประเทศรองรับการเปลี่ยนแปลง และการดำเนินการของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นั้น ไม่ใช่แค่การจัดทำแผน แต่ทุกภาคส่วนต้องเข้าร่วมกัน เพื่อให้ประเทศก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็ง.-สำนักข่าวไทย