นครราชสีมา 12 ก.ย.- สถานการณ์น้ำในเขื่อนลำพระเพลิง พบว่าขณะนี้มีน้ำ 133 ลบ.ม. หรือ 86% ของความจุทั้งหมด นอกจากนี้อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 5 แห่งอื่นๆ ในจังหวัดต่างเกินความจุเเล้ว 100% ต้องเร่งระบายน้ำออก
สำนักชลประทานที่ 8 รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 5 แห่งของ จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำเกินความจุ 100% ประกอบด้วย
1.อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร(ตอนบน) ต.บ้านเก่า อ.ด่านขุนทด มีน้ำ 8.40 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 100% ของความจุ ระบายออกวันละ 90,000 ลูกบาศก์เมตร
2.อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร(ตอนล่าง) ต.บัลลังก์ อ.โนนไทย มีน้ำ 29.20 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 105% ของความจุ ระบายออกวันละ 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร
3.อ่างเก็บน้ำบะอีแตน ต.อุดมทรัพย์ อ.วังน้ำเขียว มีน้ำ 1.8 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 104% ของความจุ ระบายน้ำออกวันละ 240,000 ลูกบาศก์เมตร
4.อ่างเก็บน้ำลำเชียงสา ต.อุดมทรัพย์ อ.วังน้ำเขียว มีน้ำ 7.60 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 101% ของความจุ ระบายออกวันละ 170,000 ลูกบาศก์เมตร
5.อ่างเก็บน้ำบ้านสันกำแพง ต.วังหมี อ.วังน้ำเขียว มีน้ำ 6.84 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 107% ของความจุ ระบายออกวันละ 8000,000 ลูกบาศก์เมตร
ขณะที่เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนขนาดใหญ่ อ.ปักธงชัย วันนี้มีน้ำ 133 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 86% ของความจุทั้งหมด 155 ล้านลูกบาศก์เมตร ระบายน้ำออกวันละ 3.6 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรองรับน้ำได้อีกแค่ 22 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น
ที่ จ.อ่างทอง ชาวนาในพื้นที่หมู่ที่ 8 และ 9 ต.สามโก้ อ.สามโก้ จ.อ่างทอง โต้เถียงอย่างรุนแรงกับเจ้าหน้าที่จากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชันสูตร หลังเกิดข้อพิพาทในการปิดประตูระบายน้ำบางเดื่อ ที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นสาเหตุทำให้น้ำในคลองล้นตลิ่งเข้าท่วมนาข้าวหลายพันไร่ได้รับความเสียหาย โดยชาวนาไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ชลประทานลดบานประตูระบายน้ำลงเพราะเกรงว่าน้ำจะทะลักเข้าท่วมนาข้าเพิ่มอีก
นายณุ ชาวนารายหนึ่ง เผยว่าที่ต้องมารวมตัวกันก็เพราะตอนนี้นาข้าวถูกน้ำท่วมหมดเสียหายหมดแล้ว ต้องใช้เครื่องสูบน้ำสูบน้ำทิ้งตลอดเวลา จนต้องเสียหายตอนทำก็ต้องซื้อพันธุ์ข้าวเงินติดลงทุนไปกู้ยืมเขามาแต่ทำอย่างนี้ก็เสียหายหมด ก็ไม่เข้าใจว่าชลประทานทำไมไม่ไปปิดด้านเหนือเพื่อไม่ให้น้ำเข้าท่วมแต่ตรงนี้มาปิดประจำ
ขณะที่นายณัฐชัย แก้วดี หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 6 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชันสูตรเดินทางมาพูดคุยเจรจากับชาวบ้านจนได้ข้อยุติ ซึ่งชลประทานยอมเปิดประตูระบายน้ำบางเดื่อไว้ และควบคุมระดับน้ำให้ต่ำกว่าตลิ่งบริเวณประตู 1 เมตร ซึ่งทำให้ชาวบ้านพอใจแต่บอกว่าจะเข้ามาตรวจสอบประตูระบายน้ำตลอดเวลาจนกว่าระดับน้ำจะลดลง
ขณะที่ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณนาข้าวของชาวนาที่ได้รับผลกระทบ พบว่านาข้าวจำนวนมากถูกน้ำท่วมสูงจนมิด บางจุดสูงกว่า 1 เมตร ทางชาวบ้านต้องตั้งคันกั้นน้ำและตั้งเครื่องสูบน้ำตลอด 24 ชั่วโมง ขณะที่บางรายถอดใจทิ้งนาข้าวที่ปลูกไว้ เพราะทนกับค่าน้ำมันที่ใช้สูบน้ำในแต่ละวันไม่ไหว โดยบอกว่าหากระดับน้ำลดลงก็ค่อยมาทำใหม่ดีกว่าที่ดันทุรังไป.-สำนักข่าวไทย