สธ.30 ส.ค.- สธ.ย้ำฉีดวัคซีนไขว้ “ซิโนแวค-แอสตรา” ปลอดภัยได้ภูมิคุ้มกันเดลตาสูง ส่วนบูสเตอร์ประชาชนพื้นที่เสี่ยงเข็ม3 เดือน พ.ย.นี้
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงว่าขณะนี้มียอดผู้ฉีดวัคซีน ทั้งหมดกว่า30.9 ล้านโดสแล้ว ส่วนใน 13 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มีการฉีดวัคซีนครอบคลุม 97.1% ในผู้สูงอายุ ส่วนใน 64 จังหวัดมีฉีดในผู้สูงอายุ 35.2% แล้ว ในภาพรวมฉีดผู้สูงอายุ ไปแล้ว43.8% ทั้งประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางมาตรฐานในการลดการป่วยหนักและเสียชีวิต ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ฉีดได้2เข็มถึงร้อยละ 108.1%
ประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมในขณะนี้ยังแสดงให้เห็นว่าสามารถลดอัตราป่วยหนักและเสียชีวิตลงได้ โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ตามกราฟจะเห็นว่า เส้นสีน้ำเงินที่แสดงอัตรา ป่วยตายจะลดลงอย่างมากเมื่อผ่านจุดตัดกับเส้นสีส้มซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ครอบคลุมของการฉีดวัคซีน เช่นเดียวกับกราฟเส้นสีเหลืองที่แสดงอัตราการป่วยหนักก็ลดลงเช่นกัน เช่นเดียวกับสัดส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง,อัตราป่วยตาย,และความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนในจังหวัดอื่นๆสัปดาห์ที่ 20-34 ก็ลดลงเช่นกัน จึงถือเป็นแนวโน้มที่ดี ต่อจากนี้ขึ้นอยู่กับว่า เราจะมีปริมาณวัคซีน และความสามารถในการฉีดวัคซีนจะทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่
สำหรับการจัดหาวัคซีนเดือน ส.ค.-ธ.ค.จะเป็นวัคซีนที่มีแผนส่งมอบจำนวน 124 ล้านโดส หากรวมกับซิโนฟาร์มและโมเดอร์นาจะได้ 140 ล้านโดส ทำให้มาตรการควบคุมโรคเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจเปิดประเทศอย่างปลอดภัย มีความเป็นจริงมากขึ้น
ทั้งนี้ ตามไทม์ไลน์
เดือน ส.ค.ฉีดให้ได้ 70% เข็มหนึ่งใน 608 12 จังหวัด
เดือน ก.ย.มากกว่าหรือเท่ากับ 70% เข็มหนึ่งใน 608 ทุกจังหวัด
เดือน ต.ค.มากกว่า = 70% ครบ 2 เข็มใน 608 และมากกว่า 50% เข็ม 1 ทั้งประเทศรวมเด็ก
เดือน พ.ย.70% เข็ม 1 ประชาชนทั้งประเทศและเข็ม 3 พื้นที่เสี่ยง
เดือน ธ.ค. 70% ครบ 2 เข็ม + เข็ม 3 ทั้งประเทศ
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า สายพันธุ์เดลตาระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม 2.5 เท่า ระบาดเร็วเท่ากับโรคอีสุกอีใส วัคซีนอย่างเดียวไม่พอที่จะหยุดแพร่เชื้อต้องอาศัยมาตรการด้านสาธารณสุขร่วมด้วย
ส่วนกรณีองค์การอนามัยโลก มีข้อพิจารณาให้ฉีดวัคซีนแบบไขว้ว่าได้หรือไม่ นั้น หมายความว่าองค์การอนามัยโลกให้หน่วยงานสาธารณสุขของประเทศพิจารณาฉีดวัคซีนแบบไขว้ได้แต่แนะนำไม่ให้ประชาชนเลือกชนิดไขว้เองซึ่งผลการศึกษาของไทยก็ชัดเจนว่าใช้สูตรซิโนแวค1-แอสตราเซเนกา 2 และบุคลากรทางการแพทย์เองก็เลือกแอสตราฯ กระตุ้นเข็ม3 พบว่ามีภูมิขึ้นสูงถึง 271.1
สำหรับประชาชนทั่วไป ในพื้นที่เสี่ยงคาดว่า จะได้รับเข็ม3กระตุ้นในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งต้องขอศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมว่าคณะผู้เชี่ยวชาญจะบริหารจัดการปริมาณวัคซีนอย่างไร ส่วนเดือน ธ.ค.เข็ม3จะกระจายไปทั่วประเทศ
ส่วนกรณีมีผู้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่ศรีราชา แล้วภายใน 24 ชั่วโมงเสียชีวิต น่าจะเป็นการรายงานข่าวที่คลาดเคลื่อน ข้อเท็จจริงคือเป็นผู้มีโรคเรื้อรัง น้ำหนักตัวมาก มีความเสี่ยงน่าจะเป็นการฉีดไฟเซอร์เข็มที่ 1 ไม่ใช่เป็นเข็ม3 . -สำนักข่าวไทย