กทม. 6 มิ.ย.-เลขาธิการ สปสช. เผย 3 สัปดาห์จ่ายช่วยเหลือเบื้องต้นอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว 239 ราย เป็นเงิน 3,016,700 บาท เสียชีวิต 4 ราย ส่วนใหญ่กว่า 50% จะมีอาการชา นอกนั้นมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลียจนต้องนอนโรงพยาบาล
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามแผนงานโครงการที่รัฐจัดให้ฟรี ว่า หลังจาก สปสช.เปิดให้ยื่นขอรับเงินเยียวยาเบื้องต้นมาประมาณ 3 สัปดาห์ ขณะนี้มีผู้ยื่นขอเข้ามา 344 ราย และคณะอนุกรรมการทั้ง 13 เขตพื้นที่มีมติจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไปแล้ว 239 ราย ไม่จ่าย 44 ราย รอข้อมูล 61 ราย โดยการช่วยเหลือขณะนี้เป็นเงิน 3,016,700 บาท ซึ่งมีกรณีที่เสียชีวิตที่คณะอนุกรรมการฯมีมติจ่ายเงินช่วยเหลือขณะนี้ 4 ราย คือ ที่ จ.ปทุมธานี 1 ราย จ.แพร่ 1 ราย จ.สงขลา 1 ราย และ จ.ตาก 1 ราย ทั้งนี้อาการไม่พึงประสงค์ที่มีการจ่ายชดเชยส่วนใหญ่จะนอนโรงพยาบาล โดยเกินกว่า 50% จะมีอาการชา มีบางส่วนที่มีอาการชานานเกิน 2 เดือน นอกนั้นก็มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลียจนต้องนอนพักในโรงพยาบาล
นพ.จเด็จ กล่าวว่า การขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นนั้น สปสช.ไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องมีอาการแบบใดถึงจะยื่นขอได้ แต่หากฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วมีอาการไม่พึงประสงค์ สามารถขอรับได้เลย ถ้าให้สะดวกคือไปสถานที่ที่ฉีด ปรึกษาแพทย์ ถ้าแพทย์คิดว่าเกี่ยวก็จะช่วยส่งเรื่องให้ โดยคณะอนุกรรมการที่พิจารณาค่าเยียวยาซึ่งมี 13 เขตทั่วประเทศจะเร่งดำเนินการให้อย่างรวดเร็ว โดยเมื่อมีมติช่วยเหลือแล้ว จะจ่ายเงินให้แล้วเสร็จใน 5 วัน
“วัคซีนโควิด-19 ทั้งหมดที่ใช้เป็นวัคซีนที่ใช้ในภาวะฉุกเฉิน เราต้องมีกระบวนการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ ดังนั้นถ้ามีอาการอย่ารีรอที่จะไปพบแพทย์ ส่วนค่าเสียหาย เป็นกระบวนการสร้างความมั่นใจ โดยบางกรณีไม่จำเป็นต้องรอจนพิสูจน์ถูกผิดก็สามารถเยียวยาได้” นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ต้องย้ำว่ากรณีที่สงสัยความเจ็บป่วยรวมถึงเสียชีวิตว่ามีสาเหตุจากวัคซีน สามารถยื่นคำร้องได้ทันที ไม่ต้องรอผลการตรวจพิสูจน์ เพราะเป็นการใช้หลักการช่วยเหลือเหลือเบื้องต้น ไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด อาจเป็นเรื่องของเหตุสุดวิสัย และเมื่อมีได้จ่ายช่วยเหลือไปแล้ว ในภายหลังหากพิสูจน์ทางการแพทย์แล้วพบว่าไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เราก็จะไม่เรียกเงินคืนเนื่องจากถือว่าเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น เรื่องนี้เป็นกลไกทางสังคมในการให้ความช่วยเหลือ ไม่ใช่กลไกทางการแพทย์ที่พิสูจน์สาเหตุ จึงต้องมีความรวดเร็วเพื่อบรรเทาผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ในกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรจะได้รับการช่วยเหลือไม่เกิน 400,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการช่วยเหลือไม่เกิน 240,000 บาท และกรณีเกิดภาวะเจ็บป่วยที่ต้องรับการรักษาไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งจะช่วยเหลือจำนวนเท่าใดนั้น เป็นการพิจารณาของอนุกรรมการฯ ตามภาวะความรุนแรง โดยสามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกับ สปสช.ได้ที่ โรงพยาบาลที่ฉีด หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือที่ สปสช.สาขาเขตพื้นที่ทั้ง 13 เขต โดยมีระยะเวลายื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ทราบความเสียหาย สอบถามเพิ่มเติม สายด่วน สปสช. โทร. 1330.-สำนักข่าวไทย