กรุงเทพฯ 3 เม.ย. – ลำดับเหตุการณ์ไฟไหม้และบ้านพังถล่มทับนักดับเพลิงและอาสากู้ชีพเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย เกิดขึ้นตั้งแต่เช้าตรู่ของวันนี้ เราไปย้อนภาพเหตุการณ์ที่มีผู้บันทึกภาพเอาไว้ได้
เหตุการณ์บ้าน 3 ชั้น บนถนนบรมราชชนี เขตทวีวัฒนา เกิดเพลิงไหม้ก่อนพังถล่มลงมา เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากชาวบ้านตั้งแต่เวลา 05.51 น. จึงระดมเจ้าหน้าที่จากสถานีดับเพลิงนำรถน้ำเข้าพื้นที่ไปฉีดสกัดเพลิง พร้อมกับประสานกู้ภัยให้ส่งทีมลงไปค้นหา และช่วยเหลือผู้ที่ติดค้างอยู่ภายใน
เวลา 06.12 น. เจ้าหน้าที่แบ่งกำลังกันไปตรวจสอบพื้นที่ พบว่าบ้านมีลักษณะเป็นอาคารสูง 3 ชั้น ปลูกอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 50 ตารางวา มีรั้วรอบขอบชิด ติดถนนในซอย และใกล้กันมีคลองอยู่ จึงระดมฉีดน้ำสกัดเพลิงที่กำลังโหมไหม้อย่างรุนแรง การตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีผู้บาดเจ็บติดค้างอยู่ที่ชั้นดาดฟ้า และบริเวณบันไดหนีไฟด้านหลังบ้าน จึงเร่งวางแผนให้การช่วยเหลือ
ผ่านไปเกือบครึ่งชั่วโมง (06.39 น.) การฉีดน้ำสกัดเพลิงเป็นผล แต่ยังมีแสงเพลิงอยู่ในตัวบ้านเล็กน้อย เจ้าหน้าที่จึงเปิดปฏิบัติการตรวจสอบผู้พักอาศัยในบ้าน เบื้องต้นพบว่ามีอยู่ด้วยกัน 8 คน และทั้งหมดยังติดค้างอยู่ภายใน
เวลา 07.00 น. มีการวางแผนลำเลียงผู้ที่ติดค้างออกมา ภายหลังเพลิงดับสนิท สามารถช่วยผู้ติดค้างออกมาได้ 7 คน เหลืออีก 1 คน ยังช่วยเหลือออกมาไม่ได้ แต่การตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าผู้ที่ติดค้างอยู่ไม่มีสัญญาณชีพแล้ว จึงมีการเตรียมการนำเปลขึ้นมารับผู้เสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม เกิดเรื่องไม่คาดคิดขึ้น เพราะขณะเจ้าหน้าที่บางส่วนกำลังระดมฉีดน้ำป้องกัน เพลิงลุกไหม้ขึ้นมาซ้ำ และบางส่วนตรวจสอบความเสียหายอยู่ภายในบ้าน เพื่อเตรียมการเคลื่อนย้ายร่างผู้เสียชีวิต เกิดมีเสียงปูนดังลั่นขึ้น และเพียงเสี้ยววินาที บ้านทั้งหลังพังถล่มลงมา ทำให้ทั้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายนอกต่างวิ่งหนีตาย ขณะที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและอาสากู้ภัยที่ยังอยู่ในตัวบ้าน ถูกซากปรักหักพังทับร่างติดค้างอยู่ภายใน ทำให้กู้ภัยต้องระวังในการปฏิบัติงานมากขึ้น โดยใช้โดรนบินตรวจจับความร้อนหาผู้รอดชีวิตที่ติดอยู่ใต้ซาก
อย่างไรก็ตาม การหยุดฉีดน้ำเพื่อไม่ให้เพลิงลุกไหม้ซ้ำนานเกินกว่า 1 ชั่วโมง ทำให้เพลิงกลับมาคุกรุ่นอีกครั้ง ก่อนลามขึ้นไปด้านข้างตัวบ้าน ซึ่งในเวลานั้น เจ้าหน้าที่ยังไม่กล้าผลีผลามดับไฟ เพราะเกรงว่าการฉีดน้ำจะทำให้ตัวบ้านอุ้มน้ำมากเกินไป และเสี่ยงพังถล่มลงมาซ้ำ ซึ่งเป็นอันตรายกับผู้ที่อยู่ใต้ซากปรักหักพัง
เวลา 09.00 น.เศษ เจ้าหน้าที่สามารถนำร่างนายธนภพ ประไพ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่เข้าปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณด้านหลังบ้านออกมาได้ 1 คน เวลา 10.00 น. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่จุดเกิดเหตุ พร้อมร่วมหารือวางแนวทางช่วยเหลือผู้ที่ยังติดค้างอยู่ภายในบ้าน โดยบอกว่าไม่สามารถนำอุปกรณ์หนักมารื้อซากอาคารได้ เนื่องจากเกรงว่าหากใช้อุปกรณ์หนักจะทำให้โครงสร้างบ้านพังซ้ำอีก ทำให้การช่วยเหลือในตอนนั้นทำได้เพียงวิธีเดียว คือการเจาะกำแพงด้านข้างเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่คาดว่าจะรอดชีวิต
ภายหลังพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ ผู้ว่าฯ กทม. ออกมายืนยันว่าพบผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ 5 คน โดย 4 คน เป็นเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย ส่วนอีก 1 คน เป็นผู้อาศัยอยู่ในบ้านนี้ ที่ตอนแรกพบว่าเสียชีวิตและยังไม่สามารถนำร่างออกมาได้ก่อนบ้านถล่ม
เวลา 11.39 น. เจ้าหน้าที่กู้ภัยใช้อุปกรณ์ชนิดพิเศษตรวจจับความเคลื่อนไหวและสัญญาณเสียงภายในตัวบ้านที่พังถล่ม พร้อมแจ้งให้ทุกคนที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุหยุดการเคลื่อนไหว ห้ามใช้เสียง เพื่อทำให้บริเวณดังกล่าวเงียบที่สุด เพราะพบสัญญาณชีพของผู้ที่ติดอยู่ในบ้าน แต่ยังระบุไม่ได้ว่าผู้ที่สื่อสารเป็นใคร เนื่องจากการโต้ตอบมีเพียงการเคาะส่งสัญญาณเท่านั้น
เวลา 12.00 น. มีการส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการค้นหาผู้สูญหายในสถานการณ์ตึกถล่มเข้าไปภายในบ้าน พร้อมกับอุปกรณ์เจาะผนังปูน และอุปกรณ์ตัดถ่าง ซึ่งอุปสรรคในขณะนั้นคือ กลุ่มควันไฟสีเทาที่ลอยอยู่ทุกพื้นที่ของตัวบ้าน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเปิดพัดลมดูดอากาศช่วยระบายควัน พร้อมกับเพิ่มอากาศหายใจให้กับผู้รอดชีวิตใช้หายใจ แต่กลับมีอุปสรรคเพิ่ม คือเมื่อลอยในอากาศ ทำให้ไฟบางส่วนที่ยังไม่ดับสนิทปะทุขึ้นมาอีกครั้ง แต่ด้วยความที่ใช้น้ำไม่ได้ เนื่องจากกลัวว่าตัวบ้านจะอุ้มน้ำและถล่มซ้ำ เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจใช้โฟมในการดับเพลิงแทน
เมื่อการค้นหาผู้ติดค้างอยู่ใต้ซากปรักหักพังเริ่มมีแผนที่ชัดเจนมากขึ้น นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย หรือ วสท. ได้นำเจ้าหน้าที่มาสังเกตการณ์ พร้อมนำกล้องวัดมุมเพื่อประเมินองศาการเคลื่อนตัวของตัวบ้าน ป้องกันการถล่มซ้ำ รวมถึงห้ามเคลื่อนย้ายอิฐหรือผนังที่ขวางทับกันอยู่ออก เพราะเกรงจะทำให้บ้านขยับตัว นอกจากนี้ยังได้ใช้การเจาะชนิดพิเศษ และกล้องส่อง ร่วมค้นหาผู้ติดอยู่ใต้ซากด้วย ส่วนสาเหตุของบ้านที่ถล่มยังยืนยันไม่ได้ว่าการที่เกิดเพลิงไหม้เป็นสาเหตุหลักหรือไม่ แต่เบื้องต้นยืนยันได้แน่นอนว่าเปลวเพลิงเป็นชนวนนำไปสู่การถล่ม เพราะการตรวจสอบเบื้องต้นพบค่าความร้อนไม่ต่ำกว่า 70 องศาเซลเซียส ทำให้ต้องพรมน้ำช่วยเป็นระยะ แต่จะไม่ฉีดน้ำเด็ดขาด ส่วนบ้านเรือนข้างเคียงให้อพยพชั่วคราว
จากนั้นมีข้อมูลจากนายพรเลิศ เพ็ญพาส ผู้อำนวยการเขตทวีวัฒนา ยืนยันว่าเขตกำลังตรวจสอบใบขออนุญาตและการออกเลขบ้าน เพื่อตรวจสอบว่าบ้านนี้ปลูกสร้างมาปีไหน ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นค่อนข้างหายาก เนื่องจากบ้านหลังนี้มีอายุมากกว่า 10 ปี และแจ้งเป็นลักษณะพักอาศัย แต่ทำธุรกิจในลักษณะขายอุปกรณ์ว่ายน้ำ ชุดว่ายน้ำ รวมถึงไม่พบการต่อเติมบ้าน ส่วนเจ้าของบ้านไม่อาศัยอยู่ที่นี่ ให้ลูกจ้างเฝ้า สาเหตุเชื่อว่าไม่ใช่เป็นเพราะบ้านเก่าอย่างเดียว แต่อาจมีเรื่องความร้อน การขยายตัวของเหล็ก น้ำหนักการฉีดน้ำ การก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน ต้องให้พิสูจน์หลักฐาน และ วิศกรรมสถานเข้ามาตรวจสอบรายละเอียด
แต่เหตุการณ์นี้ผู้ประสบภัยที่พักอาศัยอยู่ภายในบ้านหลังดังกล่าว และสามารถรอดชีวิตออกมาได้ก่อนที่อาคารจะถล่ม ให้ข้อมูลว่า ต้นเพลิงอยู่ที่ตู้พัก รปภ.เก่า ปัจจุบันใช้เป็นห้องเก็บของ เก็บที่นอนเก่า และติดตั้งปั๊มลมสำหรับฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ ซึ่งเสียบปลั๊กไว้ตลอดเวลา แต่ส่วนตัวไม่ทราบสาเหตุการเกิดประกายไฟ เห็นเพียงว่าประกายไฟลุกลามเร็วมาก จึงรีบไปปลุกคนในบ้าน และรีบหนีตายกันออกมา พร้อมยืนยันว่าบ้านหลังดังกล่าวในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ต่อเติมดัดแปลงตัวบ้านแต่อย่างใด
ส่วนนายฐิติพล คำใบใหญ่ ดับเพลิงอาสาวัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนฯ ซึ่งเป็นชุดแรกๆ เข้าถึงที่เกิดเหตุ เล่าว่า มาถึงเวลาประมาณ 06.00 น. ก็พบเปลวเพลิงซึ่งเป็นประกายไฟสีเขียว ถือว่าเพลิงแรงมาก ซึ่งปกติไฟจะสีส้ม จึงได้ใช้น้ำฉีดขึ้นข้างบนต่อเนื่อง แต่ไฟไหม้ท่วมทั้งตึกแล้ว หากไหม้ไม่นานประมาณ 1 ชั่วโมง ก็ดับไฟได้ ส่วนสิ่งของที่พบด้านในบ้านเป็นพวกไม้ ยางพลาสติก สายไฟ.-สำนักข่าวไทย