กรุงเทพฯ 5 มี.ค. – ตำรวจจัดกำลัง 400 นาย ดูแลม็อบนัดชุมนุม 3 จุด พรุ่งนี้ (6 มี.ค.) พร้อมแนะนำเลี่ยงการใช้ถนนที่มีม็อบชุมนุม รวมถึงขั้นตอนการดูแลการชุมนุมสาธารณะ
พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวถึงการเตรียมการจัดจราจรจากการชุมนุมในพื้นที่การชุมนุม 3 พื้นที่
จุดแรก โลตัสรังสิต-กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ จุดที่ได้รับผลกระทบคือ ถ.พหลโยธิน รามอินทรา แจ้งวัฒนะ วงเวียนและอุโมงค์บางเขน ถนนลาดพร้าว-วังหิน แนะนำเลี่ยงใช้ถนนวิภาวดีรังสิต และโทลล์เวย์
จุดที่ 2 ห้าแยกลาดพร้าว-ศาลอาญา รัชดาภิเษก ให้เลี่ยงถนนรัชดาภิเษก พหลโยธิน ลาดพร้าว แนะให้ใช้ถนนวิภาวดีรังสิต โทลล์เวย์ ซอยโชคชัย สุทธิสาร ประดิพัทธ์ และซอยย่อยต่างๆ ซึ่งทั้ง 2 จุดนี้อาจมารวมกลุ่มกัน ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนการดูแลการจราจรตามสถานการณ์อีกครั้ง
จุดที่ 3 แยกราชประสงค์ แนะเลี่ยงถนนราชดำริ แยกประตูน้ำ ถนนชิดลม พระราม 1 แนะใช้ถนนราชปรารภ เพชรบุรี พระราม 4 อังรีดูนังต์ และซอยต้นสน
อีกจุดที่เฝ้าติดตามข่าวคือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เนื่องจากมีการข่าวว่าอาจมีกลุ่มผู้ชุมนุมอีกกลุ่มมารวมตัวในจุดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วย
จากการข่าวทั้งหมด กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้จัดเตรียมกำลังตำรวจจราจรไว้ 300 นาย และมีกำลังเสริมจากกองบังคับการตำรวจจราจรอีก 100 นาย คอยดูแลสภาพการจราจรบริเวณโดยรอบการชุมนุมทุกจุด
หากสถานการณ์การชุมนุมรุนแรงมากยิ่งขึ้นจะมีการพิจารณาร่วมกับบริษัทขนส่งทางรางว่าจะต้องปิดให้บริการสถานีรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินในสถานีใดบ้าง เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร และทรัพย์สินของทางเอกชน เบื้องต้นอาจมีการปิดให้บริการ 3 สถานีคือ สถานีบางบัว วัดพระศรีฯ กรมราบที่ 11
อีกด้านหนึ่ง นางจันทร์ทิพย์ มากคำ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการเดินรถ ฝ่ายการเดินรถ ขสมก. เปิดเผยว่า หากสถานการณ์การชุมนุมไม่ปิดการจราจร จะเปิดการเดินรถในเส้นทางต่างๆ ตามปกติ หากมีการปิดการจราจร จะมีการปรับการเดินรถ 11 สาย ให้ไปอีกเส้นหนึ่ง โดยจะจัดเจ้าหน้าที่ ขสมก. ลงไปช่วยดูแลในเส้นทางต่าๆ ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน 1348 โดยทาง ขสมก. จะมีการจัดรถอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการที่ต้องการเดินทางออกจากพื้นที่การชุมนุมแต่ละจุด เพื่อเชื่อมต่อไปยังจุดที่สามารถต่อรถไปยังเส้นทางอื่นๆ ได้ ที่อยู่ภายในพื้นที่การชุมนุมอาจจะต้องเดินเท้าออกมาในจุดรับส่งของ ขสมก. เล็กน้อย นอกจากนี้ยังมีการวางแผนเตรียมการรับมือหากกลุ่มผู้ชุมนุมมีการใช้ความรุนแรงและทำลายทรัพย์สินของทางราชการ หรือ ขสมก.
โดยกลุ่มผู้ชุมนุมยืนยันนัดชุมนุม 6 มีนาคม พร้อมกันห้าแยกลาดพร้าว 5 โมงเย็น ไปศาลอาญา รัชดาฯ โดยพร้อมกันในเวลา 17.00 น. และยุติการชุมนุมในเวลา 21.00 น.
ข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้า เปิดเผยขั้นตอนดูแลการชุมนุมสาธารณะ โดยให้รายละเอียดว่า การชุมนุมสาธารณะเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แต่ต้องไม่ขัดต่อกฎหมายอื่น ไม่ล่วงล้ำหรือละเมิดสิทธิของคนอื่น และเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ
สำหรับขั้นตอนปฏิบัติการดูแลการชุมนุมสาธารณะตามกฎหมายมี 4 ขั้นตอน ดังนี้
1.ขั้นเตรียมการ เช่น ดำเนินการด้านการข่าว ประสานงานหน่วยที่เกี่ยวข้อง เตรียมพื้นที่และอุปกรณ์ เจรจาต่อรองกับผู้แจ้งการชุมนุม
2.ขั้นการเผชิญเหตุ เช่น จัดตั้งจุดตรวจ ชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุม ดำรงการเจรจา ป้องกันภาวะแทรกซ้อน
3.ขั้นการใช้กำลังคลี่คลายสถานการณ์ (กรณีศาลมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุม)
4.ขั้นฟื้นฟู (หลังการชุมนุม) เช่น จัดส่งผู้บาดเจ็บ ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ฟื้นฟูสถานที่และทรัพย์สิน รวบรวมพยานหลักฐาน และดำเนินคดี
หลักการดูแลการชุมนุมสาธารณะอยู่ภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง และให้ความสำคัญกับการชุมนุมโดยสงบ มุ่งคุ้มครองทั้งผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไป ส่วนเครื่องมือควบคุมฝูงชนตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ออกตามความใน พ.ร.บ.การชุมนุม มีหลายประเภท เช่น โล่ใส กระบองยาง แก๊สน้ำตา เสื้อเกราะ เครื่องขยายเสียง เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง รถควบคุมฝูงชน ปืนยิงกระสุนยางหรือแก๊สน้ำตา ฯลฯ
การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการทำหน้าที่เมื่อเผชิญกับกลุ่มผู้ชุมนุม มี 4 ขั้นตอน คือ
1.ใช้การเจรจาต่อรองและแจ้งเตือนก่อน หากมีการฝ่าฝืนกฎหมายให้หยุดการกระทำ
2.ถ้าไม่หยุด ให้แสดงท่าทางพร้อมใช้กำลัง มาตรการ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือ
3.หากยังคงฝ่าฝืนให้ใช้กำลังเพื่อกักตัวหรือจับกุมได้ ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
4.การปฏิบัติต่อผู้หญิง เด็ก และผู้สูงอายุ จะต้องเพิ่มความระมัดระวังและปฏิบัติให้เหมาะสมกับสถานภาพ
สำหรับเครื่องมือ-อุปกรณ์ควบคุมฝูงชน จะใช้ตามความจำเป็น ได้สัดส่วนและเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยจะแจ้งเตือนก่อน และมีลำดับความหนักเบาแตกต่างกันไป
1.การใช้กระบอง จะใช้ในกรณีผลักดันกลุ่มคนออกจากพื้นที่ แต่ต้องไม่ตีที่บริเวณอวัยวะสำคัญที่อาจเกิดอันตรายต่อชีวิตหรือทำให้พิการ
2.การยิงกระสุนยาง จะยิงต่อเป้าหมายที่กระทำการหรือมีท่าทีคุกคามต่อชีวิตผู้อื่น
3.การใช้น้ำฉีด จะใช้ในกรณีเข้ายุติการชุมนุม หรือระงับยับยั้งป้องกันเหตุ โดยใช้แรงดันน้ำเท่าที่จำเป็นในการสลายฝูงชน
4.การใช้สารควบคุมการจลาจล เพื่อยุติการชุมนุม หรือระงับยับยั้งป้องกันเหตุ สามารถทำได้ โดยใช้ระดับความเข้มข้นที่เหมาะสม
5.การใช้แก๊สน้ำตา จะระมัดระวังหลีกเลี่ยงการขว้างไปโดนตัวบุคคล และระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม.-สำนักข่าวไทย