กรุงเทพฯ 1 มี.ค. – เลขาธิการ อย. เผย 2 บริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ยื่นเอกสารขอพิจารณาขึ้นทะเบียนเพิ่มเติม หลังก่อนหน้านี้อนุมัติซิโนแวคและแอสตราเซเนกาไปแล้ว ย้ำไม่ปิดโอกาสเอกชนหากประสงค์ขอขึ้นทะเบียน
นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เปิดเผยถึงการขออนุญาตขึ้นทะเบียนใช้วัคซีนโควิด-19 ในภาวะฉุกเฉินว่า นอกจาก อย. จะขึ้นทะเบียนให้สามารถใช้วัคซีน 2 ตัว จากบริษัทแอสตราเซเนกา และบริษัทซิโนแวคแล้ว ล่าสุดมีอีก 1 บริษัท คือ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ยื่นเอกสารเพื่อขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาโดยคณะกรรมการ และผู้เชี่ยวชาญ คาดใช้เวลา 30 วัน ช่วงปลายเดือนมีนาคม หรือต้นเดือนเมษายน จะทราบผล
ขณะเดียวกันยังมีวัคซีนโควิด-19 อีก 1 ตัว ของบริษัทโมเดอร์นา ที่ติดต่อขอยื่นเอกสารกับ อย. เพื่อขอพิจารณาขึ้นทะเบียนวัคซีน ในช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ด้วยเช่นกัน
เลขาธิการ อย. ระบุว่า สำหรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาจะขึ้นทะเบียนวัคซีนให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินมี 3 หลัก คือ ความปลอดภัย คุณภาพ และประสิทธิภาพการป้องกันโรค อย่างไรก็ตาม อย. ไม่มีการปิดกั้นเอกชนหากต้องการยื่นขอพิจารณาขึ้นทะเบียนวัคซีน แต่หากจะมีการนำไปใช้ต้องขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมการอำนวยการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่บริหารจัดการวัคซีน
ขณะที่ นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 กล่าวถึงการบริหารจัดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในระยะแรกว่า ในระยะแรกที่วัคซีนยังมีจำนวนจำกัด จึงจำเป็นต้องเร่งฉีดในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ก็คือบุคลากรสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อ เพื่อรักษาระบบสาธารณสุข
ส่วนในประชาชนที่มีความเสี่ยงสูงรองลงมา แพทย์จะพิจารณาผู้ป่วยในการดูแลของโรงพยาบาล ว่าใครควรได้รับวัคซีน หลังจากนั้นจะมีการติดต่อไปเพื่อสอบถามความสมัครใจในการฉีด หลังจากนั้นผู้ที่ตอบรับการฉีดวัคซีนก็เข้ามารับวัคซีนเข็มที่ 1 ตามนัดในโรงพยาบาล โดยวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 2 จะนัดฉีดห่างออกไปอีก 21 วัน หรือ 3 สัปดาห์ โดยแพทย์จะออกใบนัด และให้ลงทะเบียนในแอปพลิเคชันไลน์บัญชีทางกลาง “หมอพร้อม” เพื่อให้ประชาชนสังเกตอาการหรือผลข้างเคียงหลังจากการได้รับวัคซีน นอกจากนี้เมื่อถึงเวลานัดฉีดเข็มที่ 2 หมอพร้อมจะทำการแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชัน
นพ.โสภณ กล่าวว่า จากการสำรวจประชาชนในเขตเมือง พบผู้ป่วยในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ใช้แอปไลน์ร้อยละ 90 ประชาชนในต่างจังหวัดใช้แอปไลน์ประมาณร้อยละ 40 ดังนั้น จึงต้องขอความร่วมมือจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเข้าไปติดตามผลหลังฉีด รวมถึงเตือนนัดหมายฉีดเข็มที่ 2 ด้วย
นพ.โสภณ ยังกล่าวต่อว่า การฉีดวัคซีนของซิโนแวคในเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มที่ 1 เพียง 3 สัปดาห์ ดังนั้น จึงไม่ค่อยกังวลเรื่องว่าประชาชนจะลืมนัดฉีดเข็มที่ 2 อย่างไรก็ตาม จะต้องกำชับเรื่องใบนัดหมายกับประชาชนให้ครบถ้วน
ส่วนการฉีดวัคซีนในจังหวัดต่างๆ เริ่มแล้ววันนี้ เช่น ที่จังหวัดราชบุรี นายรณภพ เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นสักขีพยานการฉีดวัคซีนซิโนแวค ที่โรงพยาบาลวัดเพลง อำเภอวัดเพลง โดยมีแพทย์หญิงปาจรีย์ อารีย์รบ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นายแพทย์ชวนนท์ อิ่มอาบ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัดเพลง บุคลากรทางการแพทย์ เข้าร่วมฉีดวัคซีนเป็นชุดแรกจำนวน 10 คน
นายแพทย์ชวนนท์ อิ่มอาบ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัดเพลง เปิดเผยว่า จ.ราชบุรี ได้รับการจัดสรรวัคซีนซิโนแวค จำนวน 2,500 โดส ฉีดได้จำนวน 1,250 คน ซึ่งได้กระจายไปให้ส่วนทั้งโรงพยาบาลภาครัฐ และโรงพยาบาลเอกชนทั้งจังหวัด รวมถึงในส่วนโรงพยาบาลและอำเภอนั้นมีผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและมีรายชื่ออยู่ในกลุ่มนี้ จากการสำรวจมีรายชื่ออยู่ประมาณกว่า 12,000 คน แต่วัคซีนที่ได้รับฉีดวัคซีนลอตแรกที่โรงพยาบาลวัดเพลง มีอยู่ประมาณ 1,250 คน ทำให้สามารถฉีดได้ก่อนประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างวันนี้จะฉีดที่โรงพยาบาลวัดเพลงเป็นที่แรกก่อน เป็นบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 10 คน โดยราชบุรีมีประชากรกว่า 800,000 คน ตั้งเป้าอย่างน้อยต้องฉีดให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณกว่า 400,000 ราย
สำหรับคนแรกที่ได้รับการฉีดวัคซีนของจังหวัดราชบุรีคือ แพทย์หญิงปาจรีย์ อารีย์รบ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด คนที่สองคือ นายแพทย์ชวนนท์ อิ่มอาบ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัดเพลง โดยก่อนฉีดวัคซีนมีการวัดความดัน ซักประวัติตามขั้นตอน จากนั้นจะให้เปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วนั่งประจำที่ เพื่อรอการฉีดวัคซีน เมื่อฉีดเสร็จแล้วจะให้นั่งพักรอประมาณ 30 นาที เพื่อรอดูอาการผลข้างเคียง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นสักขีพยานในการฉีดวัคซีนในครั้งนี้ด้วย
ส่วนที่พัทยา บริเวณคลินิคฉีดวัคซีน-19 โรงพยาบาลบางละมุง บุคลากรทางการแพทย์ ที่อายุไม่ถึง 60 ปี ฉีดวัคซีนโควิด-19 ซิโนแวค ซึ่งจัดสรรจากสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ในลอตแรก จำนวน 1,100 โดส ที่จะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยแก่ประชาชน ถือเป็นการซ้อมระบบให้พร้อมสำหรับฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชนต่อไป โดยมีนายแพทย์ชาญชัย ลิ้มธงเจริญ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยนายสมพล จิตติเรืองเกียรติ สาธารณสุขอำเภอบางละมุง นายแพทย์ธนากร อรุณงามวงศ์ อายุรแพทย์ โรงพยาลบางละมุง ร่วมฉีดและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้า ในการรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในครั้งนี้
นายอำนาจ เจริญศรี นายอำเภอบางละมุง เปิดเผยหลังรับวัคซีนโควิด-19 ซิโนแวค ว่าหลังผ่านพ้นไป 30 นาที ตามขั้นตอนการรับวัคซีนโควิด-19 ซิโนแวค อาการก็เหมือนกับการฉีดยาทั่วไป ยังไม่มีผลข้างเคียงแต่อย่างใด สำหรับวัคซีนโควิด-19 ซิโนแวค ที่ทางสาธารณสุขอำเภอบางละมุงได้รับ จำนวน 1,100 โดส จะมีการกระจายให้กับเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ จำวน 550 คน
ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ที่มารับวัคซีนโควิด-19 ในวันนี้ได้ผ่านการคัดกรองในเรื่องของโรคร่วม ประวัติการแพทย์ ยา และอายุ ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดเหมือนบุคคลทั่วไป หากบุคลากรทางการแพทย์คนใดมีโอกาสเสี่ยงมีความแพ้รุนแรงก็จะยังระงับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ ซึ่งการฉีควัคซีนลอตแรกที่ได้ 1,100 โดส จะกระจายฉีดให้กับบุคลากรการแพทย์วันละ 110-120 คนต่อวัน จนครบ 550 คน สำหรับการฉีควัคซีนโควิด-19 ซิโนแวค จะเริ่มฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในเกณฑ์ได้ทันทีในลอตนี้เลย
โดยกลุ่มเสี่ยงที่มีความประสงค์จะวัคซีนโควิด-19 ซิโนแวค สามารถลงทะเบียนที่แอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” หรือโทรมาสอบถามโดยตรงที่โรงพยาบาลบางละมุง ในการเข้ารับบริการ ซึ่งทางทีมแพทย์จะทำการนัดวันเวลาการฉีดให้
ส่วนที่เชียงใหม่ วันนี้เริ่มการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นวันแรก เน้นกลุ่มบุคลากรทางการแทพย์ตามโรงพยาบาลต่างๆ รวมทั้ง อสม. บางส่วนที่ทยอยเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบ 3,500 โดสแรก โดยส่วนใหญ่ไม่กังวลและมั่นใจในคุณภาพของวัคซีน
ตลอดทั้งวันที่โรงพยาบาลนครพิงค์ เชียงใหม่ มีบุคลากรทางการแพทย์และหัวหน้าหน่วยราชการ รวม 300 คน ทยอยเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 กันอย่างคึกคัก หลังได้รับวัคซีนซิโนแวคลอตแรก 3,500 โดส โดยได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกของเชียงใหม่ ให้กับนายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 เข็มที่ 2 ฉีดให้นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เข็มที่ 3 นายวีระพันธ์ ดีอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และเข็มที่ 4 นายแพทย์วรเชษฐ์ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์เชียงใหม่
ถือว่าเป็น 4 คนแรกของเชียงใหม่ ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ซึ่งก่อนเข้ารับการฉีดต้องมีการประเมินสุขภาพก่อนจึงจะได้รับการฉีดวัคซีน และหลังฉีดต้องนั่งประเมินอาการ 30 นาที จึงจะออกจากโรงพยาบาลได้
นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข วัย 58 ปี ซึ่งได้รับวัคซีนเข็มแรกของเชียงใหม่ บอกว่าไม่ต่างกับการฉีดวัคซีนในโรคอื่นๆ แต่ต้องประเมินสุขภาพก่อน เพราะเป็นวัคซีนใหม่ ซึ่งไม่รู้สึกกังวล และขอให้ประชาชนเชื่อมั่น
เช่นเดียวกับพยาบาลและ อสม. หลายคนที่เข้ารับการวัคซีนเป็นกลุ่มแรกๆ ของเชียงใหม่ แสดงความดีใจที่ไดรับการฉีดวัคซีน ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจได้มากขึ้นในการรับผู้ป่วย
การฉีดวัคซีนครั้งนี้ มีนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัด เดินทางมาให้กำลังใจผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ด้วย แต่ตัวผู้ว่าฯ เองไม่ได้ฉีด เนื่องจากอายุเกิน 59 ปี ซึ่งเป็นข้อจำกัดการฉีดวัคซีนของซิโนแวค
โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้มอบวัคซีนจำนวน 3,500 โดส ที่เชียงใหม่ได้รับเป็นลอตแรก ให้กับโรงพยาบาลต่างๆ รวม 9 โรงพยาบาล เพื่อนำไปฉีดบุคลากรทางการแพทย์และ อสม. ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะฉีดได้ 1,750 คน เพราะต้องฉีดคนละ 2 โดส ซึ่งตามแผนในช่วง 3 เดือนนี้ เชียงใหม่จะได้รับวัคซีนมากกว่า 80,000 โดส ซึ่งจะทยอยฉีดให้กับบุคลากรทางการแทพย์และกลุ่มเสี่ยงต่อไป.-สำนักข่าวไทย