กรุงเทพฯ 7 ก.พ. – มีผลใช้บังคับใช้วแล้วกฎหมายตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ทำแท้งได้ อัยการชี้ไม่ใช่ทำแท้งเสรี เพราะต้องทำภายใต้แพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพ ไม่ใช่คลินิกเถื่อนทั่วไป กฎหมายใหม่ยังมีผลให้คดีฟ้องร้องทำแท้งที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมต้องสั่งไม่ฟ้อง และผู้ต้องขังคดีทำแท้งต้องได้ปล่อยตัว
ภายหลังราชกิจจานุเบกษาประกาศ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ. 2564 ที่มีผลให้หญิงอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ทำแท้งได้ นายวุฒิชัย พุ่มสงวน อัยการ ศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิเด็ก เยาวชนและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า กฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (7 ก.พ.) โดยเป็นเรื่องการทำแท้ง หรือภาษาทางการแพทย์คือ “ยุติการตั้งครรภ์” มีผลให้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ได้ และหากอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ก็ทำแท้งได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของแพทยสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
นายวุฒิชัย กล่าวอีกว่า หลายคนเข้าใจผิดว่ากฎหมายนี้จะทำให้เกิดการทำแท้งเสรี ยืนยันกฎหมายนี้ไม่ใช่การทำแท้งเสรี เพราะแม้ผู้หญิงจะเลือกที่จะทำแท้งได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาเท่านั้น ไม่ใช่จะทำแท้งตามคลินิกเถื่อนทั่วไปได้โดยเสรี โดยกฎหมายใหม่นี้แก้ไขหลักการที่สำคัญ เพราะเห็นว่ากฎหมายเดิมผลักภาระความรับผิดชอบให้แต่ฝ่ายหญิง ที่ทำแท้งต้องมีความผิด ฝ่ายชายจะผิดต่อเมื่อเป็นผู้พาไปทำแท้ง และแพทย์ที่ทำแท้งให้ก็ถูกฟ้องร้องได้ แพทย์จึงปฏิเสธการทำแท้งให้ ยิ่งเป็นการผลักให้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมต้องไปใช้บริการการทำแท้งเถื่อน และหลายรายเสียชีวิตจากการติดเชื้อเพราะวิธีการทำแท้งที่ไม่ถูกต้อง กฎหมายยุติการตั้งครรภ์นี้ จะมีผลต่อคดีที่มีการฟ้องร้องเรื่องการทำแท้งในชั้นสอบสวน ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล เมื่อขณะนี้มีกฎหมายที่บัญญัติภายหลังยกเลิกการกระทำผิด สำนวนคดีที่ค้างอยู่ก็ต้องสั่งไม่ฟ้องไปก่อน ส่วนผู้ต้องขังในคดีความผิดตามกฎหมายทำแท้งก่อนหน้านี้ ถ้ามีอยู่ในเรือนจำก็ต้องได้รับการปล่อยด้วย
นายวุฒิชัย ให้ความเห็นว่า กฎหมายนี้น่าจะได้ชั่งน้ำหนักแล้วในหลายมิติ ทั้งเรื่องปัญหาสังคม และมุมมองทางพุทธศาสนา ซึ่งหลายกรณีพบว่าหญิงไม่พร้อมจะตั้งครรภ์ต่อ ทั้งวัยและฐานะทางเศรษฐกิจ รวมถึงบางรายพบว่าขณะหญิงตั้งครรภ์ช่วงเริ่มต้น หัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต มีปัญหาที่จะเลี้ยงดูเด็กที่จะเกิดมา กฎหมายเดิมก็จะทำแท้งไม่ได้ แต่ต่อไปทำได้ และกฎหมายใหม่นี้ไม่กระทบต่อหญิงที่ตั้งใจจะตัดสินใจเลือกเลี้ยงลูกต่อไปก็ทำได้ และเพื่อให้หญิงที่แม้จะสมยอมแต่ท้องไม่พร้อม ไม่ต้องไปทำแท้งกับคลินิกเถื่อน อย่างไรก็ตาม กรณีถูกข่มขืนแล้วตั้งครรภ์ ขอยุติการตั้งครรภ์ได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว.-สำนักข่าวไทย