กรุงเทพฯ 18 ม.ค. – ผู้บริหาร ทอท. ยอมรับปีงบประมาณ 64 ขาดทุนกว่า 10,000 ล้านบาท ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ก่อตั้ง แต่ยังมั่นใจเดินหน้าแผนการลงทุนขยายสนามบินในกำกับ ลดปัญหาแออัด โดยยังเชื่อว่าธุรกิจการบินฟื้นชัวร์ปี 65
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ยอมรับว่าได้ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของ ทอท.อย่างมาก ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 นี้ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ ทอท.ก่อตั้งมากว่า 40 ปี ที่ประสบปัญหาขาดทุนจากการดำเนินงานกว่า 10,000 ล้านบาท จากเดิม ทอท.มีผลการดำเนินงานที่กำไรมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะประสบปัญหาขาดทุนครั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่ยืนยันว่า ทอท.จะยังคงเดินหน้าขยายขีดความสามารถของสนามบินทั้ง 6 แห่ง รองรับการให้บริการผู้โดยสารต่อไป
สำหรับในปีงบประมาณ 2564 นี้ ทอท.ยืนยันจะเสนอแผนลงทุนขยายสนามบินสุวรรณภูมิ ก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ทิศตะวันตก (West Expansion) และทิศเหนือ (North Expansion) พร้อมกันทั้ง 3 อาคาร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินสุวรรณภูมิให้รองรับผู้โดยสารได้ 120 ล้านคน/ปี โดยใช้วงเงินลงทุนเกือบ 60,000 ล้านบาท นอกจากนั้นจะมีการเสนอแผนลงทุนขยายสนามบินดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงิน 32,000 ล้านบาท เพื่อสร้างอาคารทางด้านทิศใต้ของสนามบิน หรือบริเวณอาคารภายในประเทศหลังเดิม ซึ่งขณะนี้ ทอท.อยู่ระหว่างจัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลงด้านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณา หากพิจารณาแล้วเสร็จ คาดว่าจะเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อเตรียมเสนอเข้า ครม. พร้อมกันในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2564 และจะสามารถเปิดประมูลได้ทันที ภายในปลายปีเดียวกัน
นายนิตินัย กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่หลายคนกังวลว่า ในเมื่อปี 2564 ขาดทุนเป็นครั้งแรก ทำไม ทอท.ยังเดินหน้าลงทุนรวมกว่า 90,000 ล้านบาท ในเรื่องนี้ขอชี้แจงว่า แม้จะขาดทุน แต่ขณะนี้ ทอท.มีกระแสเงินสดอยู่กว่า 32,000 ล้านบาท และเรื่องวัคซีนก็ชัดเจนมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีการคาดการณ์ว่า สถานการณ์จะคลี่คลายประมาณปลายปี 2565 และการลงทุนก็มีระยะเวลาที่จะลงทุนเป็นรายปี โดยปัจจุบันมีปริมาณผู้โดยสารเดินทางผ่านสนามบินเพียง 15,460-25,000 คน/วัน จากที่ในสถานการณ์ปกติจะมีปริมาณผู้โดยสารเดินทางเฉลี่ย 200,000 คน/วัน และ ทอท.จะมีกระแสเงินสดเข้ากว่าปีละ 40,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ทอท.จะมีการประเมินสถานการณ์การเดินทางของผู้โดยสารอีกครั้งหนึ่ง
“ในปี 2564 แม้ว่า ทอท.จะขาดทุนกว่าหมื่นล้าน และยังมีการขยายการลงทุน แต่ ทอท.ยืนยันว่าจะยังไม่มีการกู้เงินในปี 2564 แน่นอน เพราะ ทอท.ยังเชื่อมั่นว่า เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย วัคซีนชัดเจน การเดินทางกลับมา สถานะการเงินของ ทอท.ก็จะกลับตามมา ส่วนการกู้ หรือการออกหุ้นกู้ หากมีในอนาคตก็ยังเชื่อมั่นว่า ศักยภาพของ ทอท.ต่อการลงทุนของนักลงทุนยังมีอยู่ ขณะเดียวกัน จากสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ทาง ทอท.ได้มีการลดค่าใช้จ่ายลงในรอบแรกกว่า 29% และการลดค่าใช้จ่ายในรอบ 2 นี้ ทอท.ก็ปรับลดค่าใช้จ่ายลงอีก 9%. – สำนักข่าวไทย