กทม.26 ต.ค.- จเรตำรวจแห่งชาติ เผยผลสอบตำรวจอมเงินเบี้ยเลี้ยงโควิดทั่วประเทศ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่การเงินโดนก่อน
พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมผลการตรวจสอบปมทุจริตเบี้ยเลี้ยงโควิด-19 ที่ข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้เงินไม่ครบตามจำนวนที่เบิก หรือไม่ได้รับเงินตามที่มีการเบิกจ่ายจริง หรือมีการโอนเงินเข้าบัญชี แล้วให้ข้าราชการตำรวจเบิกเงินแล้วนำเงินมาคืน ภายหลังสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งให้จเรตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบข้อเท็จแล้วรายงานผลภายใน 10 วัน โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับกองบัญชาการตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรภาค 1-9 ร่วมประชุมเป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง
พล.ต.อ.วิสนุ กล่าวว่า รายงานผลการประชุมพบว่า มีการดำเนินการไม่เป็นไปตามระเบียบหลายหน่วยงานทั้งในระดับกองบัญชาการตำรวจนครบาล และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 คือ โอนให้กับผู้ไม่มีสิทธิ์ หรือโอนให้ผู้ที่มีสิทธิ์แล้วถอนออกมา โดย ผบ.ตร.สั่งให้ดำเนินคดีผู้กระทำผิดทุกราย พร้อมตั้งกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง ยืนยันว่าตำรวจที่ทำงานตั้งด่านต้องได้เงินเต็มตามจำนวนหมดทุกหน่วย
เมื่อแยกความผิดตามท้องที่ พบว่ากองบัญชาการตำรวจภูธรภูธรภาค 1 มีที่ จ.สระบุรี , นนทบุรี ซึ่งตั้งกรรมการสืบสวนสอบสวนแล้ว กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 มี จ.สุรินทร์, กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 สภ.ท่าลี่ และอื่นๆ ในจ.เลย , สภ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น และหลายท้องที่ ของ จ.มหาสารคาม, กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 จ.เชียงราย กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 และ 7 ยังไม่พบ, กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 สภ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช, สภ.ป่าตอง จ.ภูเก็ต โดนสั่งภาคทัณฑ์ไปแล้ว, กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ตรวจพบที่ จ.พัทลุง โดยระเบียบ ก.ตร.กำหนดเบี้ยเลี้ยงให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ทุกชั้นยศชั่วโมงละ 60 บาท ไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน ตามหลักต้องโอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัวของเจ้าหน้าที่โดยตรง หากโอนไปบัญชีอื่นใดก็ผิดหมด เพราะเรามีเส้นทางการเงินที่ชัดเจน จะมอบอำนาจให้คนอื่นโอนไม่ได้ โดยผู้กระทำผิดส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่การเงินที่กระทำเป็นรายบุคคลทั้งหมด ยังไม่ใช่เครือข่าย บางแห่งอาจจะทุจริตทั้งจังหวัด บางแห่งอาจจะเฉพาะโรงพัก ซึ่งกำลังตรวจสอบว่าเป็นการจงใจหรือเกิดจากข้อผิดพลาด สำหรับในนครบาลต้องดูว่ามีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติภารกิจในการดูแลการชุมนุมหรือไม่ ทั้งนี้ มีโรงพักที่ร้องเรียนมาไม่ถึงสิบแห่ง ยังมีหน่วยอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ร้องเรียนเข้ามา แต่ก็ต้องตรวจสอบย้อนหลังทั้งหมดเช่นกัน
พล.ต.อ.วิสนุ กล่าวอีกว่า สำหรับขั้นตอนการสืบสวนข้อเท็จจริง ระเบียบ ก.ตร.กำหนดเวลาทำงานใน 60 วันหรือเร็วกว่านั้น หากไม่ทันก็ขยายเวลาให้ผู้ถูกกล่าวหา หาเหตุผลมาหักล้าง และตั้งกรรมการตรวจสอบว่าผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ ซึ่งโทษสูงสุดคือสั่งปลดออกจากราชการ และคดีอาญาก็ต้องยื่นเรื่องไปที่ ป.ป.ช.-สำนักข่าวไทย