กรุงเทพฯ 21 ก.ย. – ชาวบ้านเฮ ตรึงราคาแอลพีจีต่อถึงสิ้นปี 63 พร้อมเล็งลดค่าไฟฟ้า ด้วยการหั่นกำไร 3 การไฟฟ้า ปรับลดค่าบริการท่อก๊าซของ ปตท. ปรับสูตรเอ็นจีวีใหม่ ยืนยันใช้ร่างแผนพีดีพี 2018 ฉบับปรับปรุง ด้าน กกพ.ปรับลดขั้นตอน เร่งอัดฉีดเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าปี 64 เกือบ 3 พันล้านบาท คาดจ้างงาน 3 หมื่นคน
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) แถลงผลการประชุม คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้นโยบายพลังงานในเรื่องการลดค่าครองชีพของประชาชนที่มีผลกระทบจากโควิด-19 โดยเห็นชอบให้ตรึงราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ออกไปอีก 3 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563) จากเดิมสิ้นสุดระยะเวลาตรึงราคาสิ้นเดือนนี้ โดยราคาที่ตรึง คือ กำหนดราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นแอลพีจี ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 14.3758 บาทต่อกิโลกรัม หรือราคาขายปลีกอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม โดยใช้กองทุนน้ำมันฯ
ในส่วนของแอลพีจีมาบริหาร ซึ่งคาดรายจ่ายประมาณ 450 ล้านบาท/เดือน หรือ 1,350 ล้านบาท ทำให้วงเงินดูแลราคาแอลพีจีจะไม่เกินกรอบวงเงินที่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) กำหนดให้ใช้ได้ไม่เกิน 10,000 ล้านบาท โดยล่าสุด ณ วันที่ 13 กันยายน 2563 เงินกองทุนน้ำมันในส่วนบัญชีก๊าซแอลพีจีติดลบอย่ที่ 7,424 ล้านบาท
กบง.ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางการลดภาระค่าไฟฟ้า เช่น ทบทวนผลตอบแทนรายได้ของ 3 การไฟฟ้า ให้มีหลักเกณฑ์ทางการเงินให้มีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันที่ต่ำลง โดยปัจจุบันใช้อัตราส่วนผลตอบแทนการลงทุนเพื่อการดำเนินงาน (ROIC) ที่ปัจจุบันกำหนดอัตราอยู่ที่กว่าร้อยละ 5 เป็นต้น ซึ่งอาจจะศึกษาให้กลับไปใช้ อัตราส่วนการลงทุนจากเงินรายได้ (Self-Financial Ratio: SFR) ซึ่งเป็นส่วนที่ 3 การไฟฟ้าใช้ก่อนที่ในอดีตจะมีแผนแปรรูปกิจการ นอกจากนี้ ให้พิจารณาบริหารจัดการปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 37-40 ซึ่งอาจจะชะลอการเข้าระบบของโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ และการเร่งขายไฟฟ้าส่วนเกินไปยังเพื่อนบ้าน รวมทั้งจัดทำแผนการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า รวมทั้งติดตามกำกับดูแลการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ให้เหมาะสม และให้ทบทวนการกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติ กำหนดอัตราค่าบริการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (S) และทบทวนค่าบริการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อให้เหมาะสม
ส่วนการช่วยเหลือราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) กบง.ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการกำกับพลังงาน (กกพ.) ทบทวนต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติในโครงสร้างราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวีให้มีความเหมาะสมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน และบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากแผนเดิมที่จะทบทวนให้อิงราคาดีเซลเป็นหลัก
ขณะเดียวกัน กบง.มอบหมาย กกพ.ไปปรับปรุงแนวทางการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อให้สามารถจัดสรรเงินกองทุนฯ โครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล
นายวัฒนพงษ์ กล่าวด้วยว่า กบง.ยังเห็นชอบการปรับหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว จากนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 10 เป็นน้ำมันดีเซลเกรดพื้นฐานของประเทศ กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ได้ปรับเปลี่ยนชื่อเรียกน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว โดยมีน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 เป็นทางเลือก จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป และเห็นชอบตามข้อเสนอเชิงนโยบายตามข้อเสนอของ กกพ. เพื่อเยียวยาผู้ได้รับการคัดเลือกโครงการ SPP Hybrid Firm ในการขยายกำหนดวัน SCOD โครงการ SPP Hybrid Firm ออกไป 1 ปี จากเดิมปี 2564 เป็นปี 2565 โดยมอบให้ กกพ.ไปดำเนินการแจ้งผู้ได้รับการคัดเลือกให้จัดทำรายงานแผนการดำเนินการโครงการฯ และจัดส่งให้ กกพ.ภายในวันที่ 30 ตุลาคม 2563
ผู้อำนวยการ สนพ. ยังกล่าวด้วยว่า กระทรวงพลังงานได้ยืนยันกับ ครม.ว่าขอใช้แผนพัฒนาไฟฟ้าระยะยาว 2018 ฉบับปรับปรุงฉบับที่ 1 (พีดีพี 2018 ฉบับปรับปรุง) เนื่องจากหากยกเลิกจะกระทบต่อแผนก๊าซฯ, แผนพลังงานทดแทน และแผนอนุมรักษ์พลังงาน โดยจะกระทบต่อโครงการสร้างคลังแอลเอ็นจีและท่อก๊าซฯต่าง ๆ ส่วนโรงไฟฟ้าชุมชน 1,900 เมกะวัตต์ ตามแผนดังกล่าวก็คงจะมีการทบทวนในอนาคต
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงาน กกพ. เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2564 ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติในการกำกับดูแลและบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา97(3) ในหลายประเด็นเพื่อสร้างความคล่องตัว ยกระดับประสิทธิภาพการใช้เงิน กระจายอำนาจสร้างความโปร่งใส และลดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาลงเพื่อให้เม็ดเงินได้ถูกอัดฉีดผ่านชุมชนอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ซึ่งจะมีส่วนช่วยรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก
ทั้งนี้ คาดจ้างงานได้ 30,000 คน ตั้งกรอบงบฯ ไว้เบื้องต้นประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยขยายระยะเวลายื่นขอจากสิ้นเดือนกันยายนนี้เป็นสิ้นเดือนตุลาคม แต่การใช้งบจะรวดเร็วขึ้น 1-2 เดือน เพราะปรับปรุงให้อำนาจพื้นที่อนุมัติงบแทนที่จะให้บอร์ด กกพ.พิจารณาและปี 2564 ยังคงให้หน่วยดำเนินการที่เป็นกลุ่มบุคคล 3 คน ให้อยู่ในรูปแบบของนิติบุคคลที่มีการรวมกันของคน เช่น วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม สหกรณ์ และมูลนิธิสามารถขอใช้งบได้แต่จำกัดไม่เกิน 300,000 บาท โดยวางเป้าหมายจะยกเลิกการดำเนินโครงการโดยกลุ่มบุคคล 3 คน ให้หมดไปในปีงบประมาณ 2565
นอกจากนี้ ได้ปรับปรุงประเภทกองทุนใหม่เพิ่มสัดส่วนประเภท ค.ให้สูงขึ้น และยกเลิกค่าบริการจัดการ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้ตัดสินใจในการใช้เงินกองทุน โดยปรับหลัเกณฑ์ประเภท ค. จากเดิมมีวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท/ปี ก็เพิ่มเป็นต่ำกว่า 3 ล้านบาท ส่วนประเภท ข.ก็ให้ปรับเม็ดเงินดูแลเป็น 3-50 ล้านบาท จากเดิม 1-50 ล้านบาท และประเภท ก.ยังคงวงเงินเท่าเดิม คือ มากกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป.-สำนักข่าวไทย