รัฐสภา 2 ก.ย. -กมธ.วิสามัญแก้ปัญหาข่มขืน ชงสภาฯ เสนอวิธีลงโทษคดีข่มขืน ฉีดยาลดความต้องการทางเพศผู้กระทำผิด ให้อวัยวะเพศใช้การไม่ได้ชั่วคราว ยันไม่ใช่ฉีดยาให้ฝ่อตลอดไป แต่เป็นทางเลือกแลกการได้ลดโทษก่อนกำหนด
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มี นายศุภชัย โพธิสุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม พิจารณารายงานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ ตามที่ กมธ.วิสามัญฯ ที่มีนายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไทย เป็นประธาน กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว
สาระสำคัญคือการกำหนดแนวทางป้องกันและแก้ปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศเป็นวาระแห่งชาติ โดยตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศระดับชาติ มีกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ ให้เกิดหน่วยงานหลักในการแก้ปัญหาการข่มขืนกระทำชำเรา และล่วงละเมิดทางเพศอย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันมีการเสนอให้มีการจัดเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศทุกคน เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการติดตาม เฝ้าระวัง หลังได้รับการปล่อยตัวเมื่อพ้นโทษ ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ให้สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานผู้จัดเก็บ
นายโกวิทย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังเสนอแนวทางการฉีดยาปรับฮอร์โมนทางเพศผู้กระทำผิดคดีข่มขืนให้ไปยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเพศชาย เพื่อให้ความต้องการทางเพศลดลง สร้างอสุจิไม่ได้ และอวัยวะเพศไม่แข็งตัว แต่หากหยุดการใช้ฮอร์โมน สภาวะทางเพศจะกลับคืนมาเหมือนเดิม ไม่ใช่การทำให้อวัยวะเพศใช้การไม่ได้ตลอดไป ถือเป็นแนวทางป้องกันการกระทำผิดทางเพศได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมส.ส.หลายคนได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะประเด็นการฉีดฮอร์โมนลดความต้องการทางเพศผู้กระทำผิด อาทิ นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ความหมายการฉีดฮอร์โมนลดความต้องการทางเพศ หมายถึงการทำให้ฝ่อใช่หรือไม่ เกรงว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงเรื่องการจัดเก็บดีเอ็นเอผู้ต้องขังคดีความผิดทางเพศทุกคน เพื่อติดตามไม่ให้ไปกระทำผิดซ้ำนั้น จะมีอำนาจทำได้จริงหรือไม่ เอาอำนาจอะไรมาใช้ เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิ ดูแล้วข้อเสนอของกมธ.ไปไกลเกินกว่าที่กฎหมายให้อำนาจ
น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษก กมธ.วิสามัญฯชี้แจงว่า ข้อเสนอการฉีดให้ฝ่อนั้น เนื่องจากที่ผ่านมา แม้คดีข่มขืนจะมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต แต่ยังยับยั้งการข่มขืนไม่ได้ จึงต้องพิจารณาว่า จะใช้โทษใดมาปราบปรามการข่มขืน ประเด็นการฉีดให้ฝ่อนั้น ขอชี้แจงว่า ไม่ใช่การฉีดให้ฝ่อ แต่เป็นการฉีดฮอร์โมนยับยั้งไม่ให้เกิดความรู้สึกทางเพศระยะหนึ่ง เมื่อยาหมดฤทธิ์ก็กลับมาใช้การตามปกติ การใช้วิธีนี้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้กระทำความผิดก่อน เหมือนที่ประเทศเกาหลีใต้ใช้กับผู้ที่กระทำความผิดทางเพศซ้ำ เนื่องจากเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ในไทยและเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงจำเป็นที่ต้องไปศึกษาวิจัยเพิ่มเติมว่ามีความเหมาะสมกับสังคมไทยหรือไม่
ขณะที่ นพ.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานกมธ.วิสามัญฯ ชี้แจงว่า ประเด็นการฉีดยาให้ฝ่อ ยังตอบไม่ได้ว่าเหมาะสมกับสังคมไทยหรือไม่ เพราะอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม แต่เป็นยาที่ใช้ระงับความต้องการทางเพศชั่วคราว จะนำมาใช้ในกรณีที่หากผู้กระทำผิดต้องการพ้นโทษก่อนกำหนด ก็จะมีตัวเลือกนี้เป็นทางเลือกว่าจะยินยอมให้ฉีดยาลดฮอร์โมนทางเพศหรือไม่ โดยเจ้าตัวต้องยินยอมก่อน จึงจะใช้วิธีนี้ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่สมาชิกอภิปรายกันครบถ้วนทุกคนแล้ว ที่ประชุมจึงเห็นด้วยกับรายงานของ กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ โดยไม่มีการลงมติ เนื่องจากทุกคนเห็นด้วยกับข้อเสนอในรายงานฉบับนี้ หลังจากนี้จะส่งรายงานให้รัฐบาลเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป.-สำนักข่าวไทย