ทำเนียบรัฐบาล 27 พ.ค. – นายกฯ ชูระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กลางที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก เผยรัฐบาลกำลังมุ่งสู่ยกระดับนโยบายสู่ “30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงผ่านระบบวีดิทัศน์ในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 77 (the 77th World Health Assembly) ผ่านระบบวีดิทัศน์ ในหัวข้อ “สุขภาพดีถ้วนหน้า เป็นหน้าที่ของเราทุกคน (All for Health, Health for all)” โดยระบุว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย โดยนายบัน คี มูน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ เคยกล่าวไว้ว่าประเทศไทยเริ่มใช้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC) ในขณะที่รายได้ประชาชาติของประเทศไทยอยู่ที่เพียง 400 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัวประชากร ซึ่งปัจจัยสำคัญไม่ใช่เพียงแค่ตัวเงิน แต่เป็นความมุ่งมั่นเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยครอบคลุมการดูแลสุขภาพทุกด้าน ตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษา และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ไปจนถึงการดูแลระยะยาวและการดูแลแบบประคับประคอง นอกจากนี้ยังสนับสนุนบริการสุขภาพซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงที่จำเป็น เช่น การบำบัดทดแทนไต การรักษามะเร็งแบบครบวงจร การปลูกถ่ายอวัยวะ และการใส่รากฟันเทียม
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกวันนี้โลกเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศไทย ซึ่งการดูแลสุขภาพปฐมภูมิ ถือเป็นหัวใจสำคัญของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย ประชาชนทุกคนลงทะเบียนและได้รับบริการสุขภาพที่หน่วยบริการปฐมภูมิใกล้บ้าน และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่าเมื่อจำเป็น และขณะนี้ รัฐบาลไทยกำลังมุ่งสู่การขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ซึ่งประชาชนสามารถรับบริการด้านสุขภาพที่จำเป็นที่โรงพยาบาลแห่งใดก็ได้ เพียงแสดงบัตรประจำตัวประชาชน โดยหลังจากเปิดตัวได้ 4 เดือน นโยบายนี้ได้ครอบคลุมร้อยละ 60 ของจังหวัดในประเทศไทย และจะครอบคลุมทั้งประเทศภายในสิ้นเดือนกันยายน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ยังรวมถึงนวัตกรรมบริการปฐมภูมิ ครอบคลุมการรับบริการที่ร้านขายยา คลินิกการแพทย์แผนไทย กายภาพบำบัดที่บ้าน บริการที่จำเป็นในคลินิกทันตกรรมเอกชน และบริการการแพทย์ทางไกล โดยบริการเหล่านี้ช่วยลดระยะเวลารอคอยได้ถึงร้อยละ 50 และคาดว่าอีกไม่นานความแออัดของโรงพยาบาลขนาดใหญ่จะลดลงเช่นกัน รวมไปถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลสุขภาพที่สำคัญของผู้ป่วยระหว่างผู้ให้บริการทุกราย
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หัวใจของการดูแลสุขภาพไม่ได้เกี่ยวกับนโยบายและแผนงานเท่านั้น แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ที่มีร่วมกันของเรา ในการทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการดูแลที่จำเป็นเพื่อให้เขามีชีวิตที่มีสุขภาพดีอย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่คำนึงว่าพวกเขาอยู่ในสถานการณ์ใด ซึ่งในประเทศไทยเราได้เห็นพลังของความมุ่งมั่น ความสามัคคี และนวัตกรรม ด้วยความมุ่งมั่นและความตั้งใจร่วมกัน เราสามารถเอาชนะอุปสรรคใดๆ ที่เข้ามาได้ พร้อมเน้นย้ำว่าเมื่อร่วมมือกัน เราสามารถสร้างโลกที่สุขภาพเป็นสิทธิสากล ที่ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และเป็นที่ที่ทุกคนสามารถเจริญเติบโตได้ จึงขอให้ลุกขึ้นสู้กับความท้าทายนี้ ด้วยความกล้าหาญและความเชื่อมั่น เพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ.-312-สำนักข่าวไทย