สุพรรณบุรี 19 พ.ค.-พล.ต.อ.พัชรวาท ตั้งชื่อลูกเสือโคร่งที่นำไปเลี้ยงที่สวนสัตว์บึงฉวาก “น้องนีน่า” กรมอุทยานแห่งชาติฯ เตรียมเรียกค่าดูแลจากเจ้าของซึ่งครอบครองผิดกฎหมาย 1.3 ล้านบาท
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งชื่อให้กับลูกเสือโคร่ง เพศเมีย อายุ 3-4 เดือน ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ตรวจยึดเนื่องจากเจ้าของครอบครองโดยผิดกฎหมาย และนำไปเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตวป่าบึงฉวาก (สวนสัตว์บึงฉวาก) จังหวัดสุพรรณบุรี โดยให้ชื่อว่า “น้องนีน่า”
กรมอุทยานแห่งชาติฯ เตรียมเรียกค่าดูแลลูกเสือโคร่งจากผู้ระบุว่าเป็นเจ้าของ จากการประเมินว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ต้องดูแลเสือโคร่งมากกว่า 10 ปี เป็นเงิน 1,394,000 บาท ซึ่งเป็นไปตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการดำเนินการแก่สัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า และค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์ป่า พ.ศ. 2565
ลูกเสือโคร่งตัวนี้ ไม่มีเอกสารหลักฐานการครอบครองของทางราชการและไม่มีเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ป่า (เลขไมโครชิป) นอกจากนี้ยังพบว่า เจ้าของคนเดียวกันนี้ครอบครองลูกสิงโต 1 ตัว ซึ่งมีเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ป่า (เลขไมโครชิป) แต่ไม่ได้แจ้งการครอบครองสิงโตที่เป็นสัตว์ป่าควบคุมต่อกรมอุทยานแห่งชาติฯ
ดังนั้น จึงดำเนินคดีต่อเจ้าของหลายฐานความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ได้แก่ มาตรา 15 ฐานปล่อยเป็นอิสระซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง (ลูกเสือโคร่ง) พ้นจากการดูแลของตน มาตรา 17 ฐานครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง (ลูกเสือโคร่ง) โดยไม่ได้รับอนุญาต มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ฐานครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง (ลูกสิงโต) โดยไม่ได้รับอนุญาต มาตรา 19 วรรคสอง ฐานไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขแจ้งการรับแจ้งตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
สำหรับสัตว์ป่าของกลาง ขออนุมัติพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อนำลูกเสือโคร่งส่งมอบให้ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก (สวนสัตว์บึงฉวาก) ส่วนลูกสิงโตรับฝากไว้ที่ฟาร์มสิงโตขาวบางคล้า หมู่ที่ 5 ตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อดูแลและเก็บรักษา จนกว่าคดีถึงที่สิ้นสุด
ขณะนี้อยู่ระหว่างกักโรคลูกเสือโคร่งเป็นระยะเวลา 7 วัน สัตวแพทย์เจาะเลือดเพื่อตรวจสุขภาพทั่วไป และส่งเลือดไปยังหน่วยนิติวิทยาศาสตร์ กรมอุทยานแห่งชาติฯ เพื่อตรวจชนิดพันธุ์ของลูกเสือโคร่งและฝังไมโครชิป เพื่อทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ป่า.-512-สำนักข่าวไทย