กรุงเทพฯ 15 ส.ค. – อธิบดีกรมอุทยานฯ ประชุมร่วมสมาชิกอาเซียน ดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่พรุตามยุทธศาสตร์การจัดการพื้นที่พรุอาเซียน ฉบับที่ 2 ตั้งเป้าลดไฟป่าปลอดหมอกควันพื้นที่ป่าพรุในปี 73
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเป็นประธานการประชุมคณะทำงานพิเศษพื้นที่พรุแห่งอาเซียน ภายใต้คณะกรรมการประชุมของภาคีข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดน (COM) ครั้งที่ 9 โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนได้แก่ เนการาบรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศมาเลเซีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต เลขาธิการอาเซียน และหุ้นส่วนของอาเซียน (SUPA, MAHFSA, GIZ, IFAD, CIFOR, GEC, BMU)
นายอรรถพลกล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งในความร่วมมือกับ 10 ประเทศอาเซียน เพื่อดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่พรุตามยุทธศาสตร์การจัดการพื้นที่พรุอาเซียน ฉบับที่ 2 และแสดงความชื่นชมที่ทุกฝ่ายได้ร่วมดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการป่าพรุอาเซียนฉบับใหม่นี้รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือและกลไกต่าง ๆ อาทิ การพัฒนากรอบการติดตามและประเมินผล (M&E framework) การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การจัดการพื้นที่พรุอาเซียน ฉบับที่ 2 แผนงานความร่วมมืออาเซียนฉบับที่ 2 เรื่อง การควบคุมมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดนและแนวทางการดำเนินงาน และกรอบการลงทุนอาเซียนเพื่อการจัดการพื้นที่ให้ปลอดหมอกควันอย่างยั่งยืน เหล่านี้จะร่วมสร้างความเข้มแข็งในการจัดการพื้นที่พรุ ทำให้แก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนได้อย่างครอบคลุม นำไปสู่การลดการเกิดหมอกควันข้ามพรมแดนในช่วงฤดูแล้งให้เหลือน้อยที่สุด ดังเห็นได้จากการเกิดจุดความร้อนในภูมิภาคอาเซียนตอนใต้ลดลงอย่างต่อเนื่อง
นายอรรถพลยังกล่าวถึง การดำเนินงานในพื้นที่พรุของประเทศไทย โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯในปีนี้ ได้ดำเนินงานอนุรักษ์ ป้องกัน และฟื้นฟูในพื้นที่พรุอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะกิจกรรมป้องกันและควบคุมไฟป่าที่มีการบูรณาการภายในหน่วยงาน เครือข่ายภาคประชาชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ในการร่วมจัดตั้งจุดเฝ้าระวัง ลาดตระเวน ประชาสัมพันธ์ การบริหารจัดการน้ำ การใช้เทคโนโลยีดาวเทียมและอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ในการเฝ้าระวัง ตรวจติดตาม และวางแผนการเข้าดับไฟป่าอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ กรมอุทยานฯ ยังมีการตั้งเป้าหมายในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ลดพื้นที่เผาไหม้ 50 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2566 และจุดความร้อนลดลงร้อยละ 50 จากปี 2566 และเสนอให้ลด Hotspot ในพื้นที่พรุอาเซียนให้ได้ร้อยละ 20 เป็นเป้าหมายแรก เพื่อทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปลอดหมอกควันภายในปี 2573
ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานในพื้นที่พรุร่วมกับเพื่อนสมาชิกอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม การแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์การดำเนินงานในการแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนในพื้นที่พรุ และร่วมรับทราบรายงานความก้าวหน้าของโครงการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ป่าพรุ พร้อมกับหารือถึงแนวทางและกำหนดทิศทางในการแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนในพื้นที่พรุของภูมิภาคอาเซียน พร้อมขับเคลื่อนภูมิภาคอาเซียนให้เป็นภูมิภาคปลอดหมอกควันต่อไป. 512 – สำนักข่าวไทย