บช.น. 25 มี.ค.-รอง ผบช.น. ระบุตำรวจหญิงบาดเจ็บจากการฝึกเป็นอุบัติเหตุ อยู่ในความดูแลของแพทย์ใกล้ชิด มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมเยียวยาเต็มที่ ด้านแม่ของ ส.ต.ต.หญิง เชื่อลูกป่วยซึมเศร้าหลังเข้ารับการฝึกหลักสูตรกองร้อยน้ำหวาน ไม่ขวางหากลูกอยากเป็นตำรวจต่อ
พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พร้อมด้วย พล.ต.ต.ภัทรภณ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผบก.อก. และ พ.ต.อ.วิษณุวัฒน์ ภู่ระหงษ์ ผกก.ฝอ.4 แถลงข่าวกรณีข้าราชการตำรวจหญิง สังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงการเข้ามาเป็นตำรวจ 1 ปี ทั้งเรื่องการฝึก และการเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งมีการแชร์โพสต์ดังกล่าวจำนวนมาก
พล.ต.ต.นพศิลป์ ระบุว่าเบื้องต้นได้รับรายงานข้อมูลดังกล่าวแล้ว โดยทาง พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล มีความห่วงใยจึงสั่งการให้ผู้บังคับบัญชาเดินทางไปเยี่ยมข้าราชการตำรวจหญิงดังกล่าว ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา พบว่า ส.ต.ต.หญิง คนธรส อยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดและมีอาการปลอดภัย ปัจจุบัน ส.ต.ต.หญิง คนธรส ผบ.หมู่ ฝอ.4 บก.อก.บช.น. ยังคงดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับหมู่ ฝ่ายอำนวยการ 4 กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยได้พูดคุยกับทางคุณแม่ของ ส.ต.ต.หญิง คนธรส และได้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว พร้อมให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
เบื้องต้นได้ให้ ส.ต.ต.หญิง คนธรส อยู่ในความดูแลแพทย์อย่างใกล้ชิดรักษาตัวอยู่ก่อน ส่วนในเรื่องการฝึกของน้องที่ผ่านมา ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) จะได้ทำการเสนอเรื่องมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อขอตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องการฝึกอบรมดังกล่าว และจะติดตามความคืบหน้าทันที
จากการตรวจสอบพบว่า ส.ต.ต.หญิง คนธรส ได้มีการเข้าฝึกอบรมหลักสูตรกองร้อยน้ำหวาน ที่ บก.สอ.บช.ตชด. แต่ยังไม่จบหลักสูตรดังกล่าว ซึ่งปัจจุบัน ส.ต.ต.หญิง คนธรส ยังคงทำงานในตำแหน่ง ผู้บังคับหมู่ ฝ่ายอำนวยการ 4 กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ข้อมูลอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีหน่วยงานที่ ส.ต.ต.หญิง คนธรส เข้ารับการฝึกและครูฝึก โดยได้สั่งการให้ผู้บังคับบัญชาเร่งรัดตามความคืบหน้าอย่างทันท่วงที
สำหรับ ส.ต.ต.หญิง สมัครใจลงมาฝึกตามหลักสูตร กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชนเอง โดยมีไทม์ไลน์การฝึกตลอดหลักสูตรดังนี้ เริ่มการฝึกตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค.- 12 ก.ค.2566 ผ่านมาเพียง 4 วัน ในวันที่ 19 มี.ค.66 ส.ต.ต.หญิงประสบอุบัติเหตุ ระหว่างการฝึก ถูกเพื่อนในรุ่น กระโดดชักเท้าหลังไปโดนศีรษะจนบาดเจ็บ ต้องส่งตัวไปรักษาด่วนที่ รพ.หัวหิน และส่งไปรักษาตัวต่อที่ รพ.ตำรวจ กทม. แพทย์ลงความเห็นให้รักษาตัวอยู่ 10 วัน ช่วงวันที่ 20-29 มี.ค.66 พอถึงวันที่ 29 มี.ค.66 ส.ต.ต.หญิงกลับมารายงานตัวต่อที่กองร้อยการฝึกและฝึกต่อเนื่องจนถึงวันที่ 30 มี.ค.- 7 เม.ย.66 กระทั่งวันที่ 8-17 เม.ย. ส.ต.ต.หญิง ได้พักตามกรอบเวลา เมื่อถึงวันที่ 17 เม.ย.66 ต้องเริ่มการฝึก แต่ ส.ต.ต.หญิง ไม่ได้กลับมาฝึก แต่ไปรักษาตัวต่อที่ รพ.ตำรวจ และรักษาตัวอย่างต่อเนื่อง แพทย์ให้ความเห็นว่า เครียดวิตกกังวล ต้องรักษาอย่างใกล้ชิด ตามหลักสูตรการฝึกต้องฝึกให้ครบ 80% หรือ 440 ชั่วโมง แต่ด้วยอาการป่วย จึงฝึกต่อไม่ได้ ต้องส่ง ส.ต.ต.หญิง กลับไปที่กองอำนวยการ 4 ดังเดิม
ยืนยันว่าการที่ ส.ต.ต.หญิง ถูกเตะศีรษะนั้นคืออุบัติเหตุ ไม่มีใครตั้งใจให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว และก็จะไม่มีบทลงโทษใดๆ กับคนที่เตะด้วย ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ ส.ต.ต.หญิงก็โพสต์ ยืนยันแล้วว่าเป็นอุบัติเหตุจริง ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้รับการร้องเรียนครูฝึกคนดังกล่าว และในรุ่นก็ไม่มีผู้ใดร้องเรียนการฝึกนี้
ส่วนเรื่องการเยียวยานั้นยืนยันว่า ทางต้นสังกัดจะรักษา ส.ต.ต.หญิง ให้ดีที่สุด ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ก็จะได้รับตามสิทธิ์ข้าราชการอย่างครบถ้วน
ด้าน พ.ต.อ.วิษณุวัฒน์ ระบุว่า ส.ต.ต.หญิง มีโอกาสกลับไปฝึกต่อได้อีกและสามารถมาบรรจุ ผบ.หมู่ ได้ แต่ในห้วงเวลาดังกล่าว ยังไม่เปิดการฝึกครั้งที่ 2
ขณะแม่ของ ส.ต.ต.หญิง เชื่อว่าอาการป่วยของน้องเกิดขึ้นหลังเข้ารับการฝึกอบรมตำรวจอย่างแน่นอน เพราะก่อนหน้านี้น้องเป็นคนร่าเริง เรียนเก่ง ได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ส่วนเรื่องดังกล่าวแม่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วยจนกระทั่งไปเจอน้องที่โรงพยาบาลและรู้ว่าความเห็นของแพทย์ไม่ตรงกัน จึงไปรับน้องไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งตอนนี้อยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ซึ่งจะต้องมีการดูแลต่อเนื่อง โดยเฉพาะแพทย์เฉพาะทางให้การดูแลเป็นอย่างดี
น้องเล่าให้ฟังว่าหลังบรรจุเข้ารับราชการตำรวจก็ถูกส่งไปฝึกอบรมตามโครงการต่าง ๆ โดยในหลักสูตรมีการรับน้อง ส่วนเหตุการณ์ในค่ายถึงแม้ไม่ได้เห็นกับตาแต่ก็เชื่อว่าเป็นอุบัติเหตุ จึงส่งไปรักษาตัว แต่ก็มีคำสั่งให้กลับไปฝึกต่อทั้งที่ยังมีอาการป่วยอยู่ สภาพร่างกายยังไม่ปกติ ส่วนรายละเอียดเรื่องที่น้องถูกด้อยค่า แม่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ก็เชื่อว่าเป็นไปตามที่น้องโพสต์ เพราะถ้าไม่ถึงที่สุดน้องก็จะไม่มีการโพสต์ระบายแบบนี้ และเชื่อว่าโพสต์ระบายออกมาจากความรู้สึกจริง ๆ และส่วนตัวก็ไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับใครอีก และหลังจากที่น้องฝึกเสร็จและกลับมาก็มีอาการเครียดและซึมเศร้า น้องเล่าให้ฟังว่าท่าที่ทำให้อาการป่วยหนักขึ้นคือท่าลุกหมอบ แม่ยอมรับว่าตกใจที่อาการของลูกเป็นแบบนี้ ส่วนหลังจากนี้จะให้ลูกรับราชการตำรวจต่อหรือไม่ แม่ยืนยันว่าน้องยังอยากรับราชการอยู่ เพราะมีความเข้มแข็งและตั้งใจอยากรับราชการ ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยากให้ลูกเป็นคนตัดสินใจว่าจะเป็นตำรวจต่อหรือไม่ โดยให้สิทธิ์น้องเป็นคนตัดสินใจ
ส่วนการกีดกันจากผู้บังคับบัญชา แม่ไม่ทราบข้อมูลส่วนนี้ ต้องให้น้องเป็นคนบอก แต่ยอมรับว่าน้องมีความกดดันและเครียดเนื่องจากเป็นโรคซึมเศร้าที่ไม่สามารถหายได้
ด้านน้องมะนาว เพื่อนของ ส.ต.ต.หญิง เล่าว่าเป็นเพื่อนกับ ส.ต.ต.หญิง ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ที่ผ่านมา ส.ต.ต.หญิง เป็นคนสดใสร่าเริง และไม่มีอาการทางจิต แต่ตั้งแต่เกิดเรื่องก็ได้โทรศัพท์มาปรึกษาอยู่บ่อยครั้ง โดยเพื่อนเล่าให้ฟังว่าเป็นอุบัติเหตุจากการฝึกอบรมฯ และบอกว่าตอนนี้ตนเองไม่มีคุณค่า ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยพูด แต่ไม่เลวร้ายถึงขั้นโพสต์บอกลา เชื่อว่าครั้งนี้คงสุด ๆ แล้ว จึงบรรยายความรู้สึกในโพสต์ โดยเฉพาะคำพูดด้อยค่าจากคนรอบข้าง ส่วนใครเป็นคนพูดกดดันหรือด้อยค่าแม่และตนเองปฏิเสธไม่ขอบอก เกรงจะมีปัญหาตามมา แต่ยืนยันเกิดจากการฝึกแน่นอน และตั้งแต่นั้นสภาพจิตใจก็ย่ำแย่มาโดยตลอด โดยทุกคืนที่นอนฝันถึงการฝึก รวมถึงการลงโทษด้วยการดองเวร ลักษณะยืนเข้าเวรเป็นระยะเวลานาน ส่วนบรรยากาศภายในค่ายตนเองไม่ทราบ แต่เชื่อว่าหากน้องสภาพปกติคงฝึกต่อได้ แต่ครั้งนี้หลังเกิดอุบัติเหตุก็ยังต้องกลับไปฝึกอีก จึงทำให้อาการทรุดหนักลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะการฝึกที่การใช้ศีรษะ ทั้งที่ไม่ควรใช้แล้วเพราะเพื่อนไม่สบาย และยืนยันว่า เพื่อนโทรมาร้องไห้บ่อยครั้งและบอกเศร้าอีกแล้ว ความรู้สึกตอนนั้นยังคงอยู่ ที่ผ่านมาไม่เคยตัดพ้อว่าไม่เคยอยากเป็นตำรวจ ส่วนฟางเส้นสุดท้ายเชื่อว่าเพราะเป็นมานานจึงเกิดความเครียดสะสม จนทำให้ไม่สามารถทนได้.-416-สำนักข่าวไทย