ก.คลัง 25 ต.ค. – “จุลพันธ์” เตรียมเสนอบอร์ดชุดใหญ่เคาะดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท เน้นใช้งบประมาณ ซื้อสินค้าในเขตอำเภอ กระตุ้นใช้จ่ายในท้องถิ่น มอบ ธ.กรุงไทย พัฒนาระบบบล็อกเชน ยอมรับโอนเงินล่าช้าหลัง เม.ย.67 ร้านค้าขึ้นเงินต้องอยู่ในระบบภาษี
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet กล่าวว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปบางประเด็น และมีความเห็นแตกต่างหลากหลาย ยืนยันเดินหน้าโครงการโอนเงินดิจิทัลให้กับประชาชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐ จึงได้จัดทำข้อเสนอทางเลือกต่อคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในช่วงถัดไป เพื่อพิจารณาทางเลือกต่างๆ ประกอบด้วย
กลุ่มเป้าหมายจากเดิมโอนเงินให้กับทุกคนอายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 56 ล้านคน ใช้เงิน 5.6 แสนล้านบาท เปลี่ยนเป็นการจัดทำทางเลือกกลุ่มเป้าหมาย ให้คณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจเลือกกลุ่มเป้าหมายได้รับการช่วยเหลือ คือ 1. กลุ่มรายได้หรือเงินเดือนมากกว่า 25,000 บาท และ/หรือมีเงินฝาก 1 แสนบาท ไม่ควรได้รับการโอนเงินดิจิทัล มีจำนวน 43 ล้านคน ใช้เงินประมาณ 4.3 แสนล้านบาท 2. กลุ่มรายได้หรือเงินเดือนมากกว่า 50,000 บาท และ/หรือมีเงินฝาก 5 แสนบาท ไม่ควรได้รับการโอนเงิน มีจำนวน 49 ล้านคน ใช้เงิน 4.9 แสนล้านบาท 3. กลุ่มผู้มีรายได้น้อย เป็นกลุ่มผู้ยากไร้ มีจำนวน 15-16 ล้านคน ใช้เงิน 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มควรได้รับการช่วยเหลือ คณะอนุกรรมการฯ อยากเสนอตัดสิทธิผู้มีรายได้สูง แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของบอร์ดชุดใหญ่ตัดสินใจ
รัฐบาลยังใช้แนวทางการยืนยันตัวตนด้วยระบบ KYC ตามกรอบเดิม โดยใช้ฐานข้อมูลเดิม ซึ่งเคยยืนยันตัวตนไว้กับภาครัฐ จากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อเข้าร่วมโครงการ สำหรับบุคคลธรรมดา นิติบุคคล กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้าน ส่วนจะเปิดดำเนินการเมื่อไรจะประกาศอีกครั้ง
ด้านการใช้จ่าย มุ่งเน้นสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ในเขตอำเภอ เพื่อกระจายรายได้หมุนเวียนในท้องถิ่น ถือว่าเป็นพื้นที่ไม่ใหญ่มากเกินไป ต้องใช้จ่ายเงินภายใน 6 เดือน หากใช้ไม่หมด จะถูกตัดส่งคืนคลัง จึงตัดทางเลือกเขตตำบล และระดับจังหวัด สำหรับการขึ้นเงินดิจิทัลเป็นเงินบาท ทำได้เฉพาะร้านค้าอยู่ในระบบภาษี ทั้งการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ผู้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ส่วนแหล่งที่มาของเงินรองรับโครงการ ทำข้อเสนอ 3 ทางเลือก คือ 1. การใช้เงินงบประมาณเป็นหลัก 2. การใช้แหล่งเงินกู้ ด้วยหลากหลายวิธี 3. การใช้แนวทางกึ่งการคลัง ตามมาตรา 28 ด้วยการกู้เงินจาก ธ.ออมสิน ยอมรับว่าเคยสนใจ แต่ขอเป็นทางเลือกสุดท้าย คณะอนุกรรมการฯ มุ่งเน้นเสนอใช้งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ในรูปแบบงบผูกพันต่อเนื่อง 4 ปี ใช้งบประมาณปีละ 1 แสนล้านบาท รวมยอดเงินประมาณ 4 แสนล้านบาท
ในด้านผู้บริหารและดำเนินการระบบ มอบหมายให้ ธ.กรุงไทย จัดทำแพลตฟอร์มใหม่ที่เป็นระบบบล็อกเชน มีความปลอดภัย เนื่องจากเคยสร้างแอปฯ เป๋าตัง มาใช้รองรับบัตรสวัสดิการฯ และบริการต่างๆ ของรัฐในช่วงที่ผ่านมา โดยสร้างระบบขึ้นใหม่ แยกจากแอปฯ เป๋าตัง ด้วยการโอนฐานข้อมูลเดิมเข้ามาใช้ ยืนยันใช้เงินสร้างระบบไม่ถึง 12,000 ล้านบาท ตามที่เป็นข่าว ยอมรับว่า ขั้นตอนการจัดทำระบบเงินดิจิทัล ต้องทดสอบ เพื่อความปลอดภัย และการใช้งบประมาณอาจทำให้การโอนเงินดิจิทัลมีความล่าช้า หลังเดือนเมษายน 2567 พร้อมกับการใช้งบประมาณโครงการของรัฐ. – สำนักข่าวไทย