เชียงใหม่ 16 ก.ย. – “นายกฯ เศรษฐา” และคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.เชียงใหม่ หลังขึ้นไปเชียงราย เมื่อวานนี้ (15 ก.ย.) ภารกิจแรกวันนี้ไปดูสถานการณ์น้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด จากนั้นไปศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และ สส.เชียงใหม่ ไปดูสถานการณ์น้ำในเขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด พร้อมติดตามโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนแม่กวงอุดมธารา
โดยนายกรัฐมนตรีได้รับฟังสภาพปัญหาและความคืบหน้าโครงการ ตอนนี้เขื่อนแม่กวงจะยังดูสวยงาม แต่ปริมาณน้ำในเขื่อนเหลืออยู่ราว 55 เปอร์เซ็นต์ของความจุ 263 ล้านลูกบาศก์เมตร และแต่ละปีมีน้ำกักเก็บไม่มากนัก เนื่องจากพื้นที่รับน้ำฝนที่จะไหลลงอ่างมีน้อย เหมือนหลังคาบ้านเล็ก จึงมีโคงการเพิ่มปริมาณน้ำ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 โดยขุดอุโมงค์ยักษ์ผันน้ำ 2 ช่วง รวมความยาว 49 กิโลเมตร
โดยช่วงที่ 1 ขุดอุโมงค์ยักษ์ผันน้ำความยาว 26 กิโลเมตร จากน้ำแม่แตง ซึ่งมีปริมาณน้ำเกินในช่วงหน้าฝนปีละ 113 ล้านลูกบาศก์เมตร มายังเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ซึ่งมีปริมาณน้ำเกินปีละ 47 ล้านลูกบาศก์เมตร จากนั้นจึงผันน้ำที่เกินปริมาณรวม 160 ล้านลูกบาศก์เมตร ผ่านอุโมงค์ยักษ์ ช่วงที่ 2 มายังเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ความยาว 23 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยเติมน้ำให้เขื่อนแม่กวงอีกปีละ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร
จากการวิเคราะห์จะช่วยเพิ่มการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงหน้าแล้งจาก 17,000 ไร่ เป็น 76,000 ไร่ รวมทั้งน้ำอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม จากปีละ 13 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มเป็น 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้โครงการคืบหน้าไปเกินร้อยละ 70 แล้ว ที่สำคัญโครงการนี้จะช่วยลดปัญหาน้ำท่วมในตัวเมืองเชียงใหม่ด้วย ซึ่งมีรายงานว่ามีกลุ่มชาวบ้านมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์ดำรงธรรม ทั้งปัญหาที่ดิน สร้างอ่างเก็บน้ำ และราคาข้าว
ก่อนที่นายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งก่อตั้งขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งเสด็จฯ ผ่านลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ ในปี พ.ศ. 2525 ที่เป็นป่าเต็งรังที่เสื่อมโทรม จึงมีพระราชประสงค์ที่จะใช้พื้นที่บริเวณนี้กว่า 8,500 ไร่ ให้เป็นศูนย์การศึกษา ทดลอง วิจัย หารูปแบบการพัฒนาต่างๆ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ภาคเหนือ เผยแพร่ให้ราษฎรนำไปปรับใช้ได้ด้วยตัวเอง .-สำนักข่าวไทย