เร่งหาทางออกปมคอนโดหรู “แอชตัน อโศก”

กทม. 28 ก.ค.-หลังจากเมื่อวานนี้ ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษาให้ถอนใบแจ้งและใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดหรูย่านอโศก เจ้าของโครงการเร่งหาทางออก และมีความเห็นจากหลายฝ่าย

บรรยากาศที่หน้าคอนโดฯ หรู “แอชตัน อโศก” หลังวานนี้ ศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ เนื่องจากการก่อสร้างผิดเเบบที่ขออนุญาต เเละพื้นที่ทางออกของคอนโดฯ เป็นของ รฟม. ซึ่งคำสั่งศาลดังกล่าวทำให้มีลูกบ้านในคอนโดฯ ร่วม 580 ครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ได้รับผลกระทบ โดยบริเวณทางเข้าหน้าคอนโดฯ มีสื่อมวลจำนวนมากมาติดตามความคืบหน้าของเจ้าของโครงการ เเต่พนักงานรักษาความปลอดภัยเเละนิติบุคคลไม่อนุญาตเข้าไปภายในเขตคอนโดฯ ผู้สื่อข่าวจึงอยู่ตรงบริเวณทางเข้ารถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสุขุมวิท เเละพยายามขอข้อมูลพูดคุยกับผู้อยู่อาศัย เเต่ส่วนใหญ่เลี่ยงที่จะตอบคำถาม หรือให้ความเห็นใดๆ


ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานติดต่อจากทางบริษัท อนันดาฯ ผู้พัฒนาโครงการ หลังบริษัทแถลงข่าวเมื่อวานนี้ว่า จะขอให้ รฟม. และ กทม. ร่วมรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น และถึงแม้จะติดต่อมา ก็ไม่รู้ว่าจะช่วยได้อย่างไร เนื่องจากคำพิพากษาของศาลฯ ไม่ได้หมายรวมถึงการเพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่ของ รฟม.เป็นทางผ่านเข้า-ออกโครงการ แต่เป็นการเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ที่ทางผู้พัฒนาโครงการ คือ บริษัท อนันดาฯ จะต้องไปหาทางออกร่วมกับผู้ให้ใบอนุญาต คือ กทม. ซึ่งไม่เกี่ยวกับ รฟม.แต่อย่างใด ใบอนุญาตใช้พื้นที่ผ่านทางของ รฟม.ไม่สามารถนำไปประกอบการขออนุญาตก่อสร้างโครงการได้ เพราะถนนมีความกว้างเพียง 6.40 เมตร และเป็นถนนของ รฟม. ไม่ใช่ถนนสาธารณะ จึงไม่นับเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ

นอกจากนี้ การที่บริษัทอ้างว่ามีการจ่ายเงินให้ รฟม.เป็นค่าใช้พื้นที่เป็นทางผ่านเข้า-ออกโครงการ จำนวน 97 ล้านบาทนั้น ทาง รฟม.ยังไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากโครงการมีปัญหา ส่วนจะรับเงินจำนวนนี้ได้หรือไม่ ต้องดูข้อกฎหมายอย่างละเอียดอีกครั้ง ทั้งนี้ หากทางบริษัทจะยื่นฟ้องก็เป็นสิทธิที่ทำได้ ซึ่งต้องต่อสู้กันไปตามข้อกฎหมาย โดยทาง รฟม.ยึดถือคำพิพากษาเป็นหลัก 


ส่วนคำพิพากษาของศาลครั้งนี้ จะผูกพันไปถึงอีก 13 โครงการที่มีลักษณะเดียวกันนี้หรือไม่ เบื้องต้นมองว่าคำพิพากษาจะผูกพันเฉพาะคู่ความ แต่ก็เป็นกรณีศึกษาให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องนำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจ

ขณะที่นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การสร้างอาคารผิดกฎหมายเกิดจากรัฐไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ไม่บังคับใช้กฎหมายตั้งแต่ต้น เมื่อศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯ จึงก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภค เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยให้ผู้บริโภคในทุกกรณีก่อน ส่วนผู้ประกอบการจะไปเรียกร้องกับหน่วยงานที่อนุญาตก่อสร้างนั้นเป็นเรื่องคนละส่วนกัน

ส่วนนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า กรณีนี้ถือว่าผู้ประกอบการเป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้บริโภคซื้อห้องแล้วอยู่อาศัยไม่ได้ตลอดไปตามวัตถุประสงค์ ผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนมีสิทธิยกเลิกสัญญา และขอให้บริษัทคืนเงินทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งมูลนิธิฯ จะช่วยเหลือในเรื่องการดำเนินคดีกับบริษัทที่เป็นเจ้าของโครงการ ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผ่านช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ


ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ตามคำพิพากษาชี้ให้เห็นว่า เจ้าพนักงานท้องถิ่นของ กทม. ซึ่งมีหลายหน่วยงาน ทั้งเขตวัฒนา กองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา กทม. สำนักการจราจรและขนส่ง ที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมต่อพื้นที่ที่ใช้เป็นทางเข้า-ออกคอนโดฯ ซึ่งขัดกับกฎหมาย ผู้ที่รับรองการเปิดใช้อาคารและพิจารณาแบบก่อสร้าง ต้องถูกเอาผิดทางวินัยและอาญา รวมถึงความผิดทางแพ่ง จึงเตรียมไปยื่นร้องเรียนต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 4 ส.ค.นี้

สำหรับโครงการแอชตัน อโศก เป็นคอนโดมิเนียมสูง 50 ชั้น ตั้งอยู่ติดถนนสุขุมวิท ซอย 21 (ถนนอโศกมนตรี) เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ใกล้สถานีรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายสีน้ำเงิน สถานีสุขุมวิท เมื่อวานนี้ ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษาให้ถอนใบแจ้งและใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดมิเนียมแอชตัน อโศก ทั้งหมด หลังโครงการนี้ถูกร้องเรียนว่าได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างถูกต้องหรือไม่ เพราะพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กำหนดว่าจะต้องมีที่ดินด้านใดด้านหนึ่งติดถนนสาธารณะไม่น้อยกว่า 12 เมตร แต่ที่ดินผืนดังกล่าวไม่มี และการอ้างว่าใช้ที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. หรือรถไฟฟ้า MRT เป็นทางเข้าออกแทนนั้น ทำได้หรือไม่

คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดระบุว่าที่ดินของรฟม.จะนำมาให้เอกชนทำโครงการไม่ได้ทำให้หน่วยงานของรัฐซึ่งก็คือกรุงเทพมหานครออกใบอนุญาตก่อสร้างให้ไม่ได้ด้วยโดยการออกใบอนุญาตที่เกิดขึ้นมาแล้วจึงผิดกฎหมาย

ด้านอนันดา เอ็มเอฟ อโศก บริษัทในเครือ อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ที่ดำเนินงานโครงการคอนโดมิเนียมดังกล่าว ได้ออกแถลงการณ์หลังจากมีคำพิพากษาดังกล่าวว่า ก่อนการก่อสร้างมีการตรวจสอบประเด็นทางกฎหมายเกี่ยวกับข้อกำหนดและการขออนุญาตอย่างรัดกุมแล้ว ทั้งยังผ่านการพิจารณาและอนุมัติจากหน่วยงานของรัฐไม่ต่ำกว่า 8 หน่วยงาน จึงยืนยันว่าบริษัทดำเนินโครงการนี้อย่างสุจริต และยังระบุอีกว่า “หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ต่อเจ้าของร่วมอาคารชุดและบริษัทฯ”

ขณะที่นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวว่า บริษัทต้องการขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐในการเยียวยา และหาทางออกเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกบ้านที่อยู่อาศัยในโครงการฯ พร้อมมองว่าเหตุการณ์นี้กระทบต่อโครงการอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ที่ขายไปแล้ว 68 ยูนิต และทางออกของโครงการที่ตั้งอยู่บนที่ดินเวนคืนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย มีการให้ค่าตอบแทนที่ถูกต้องแก่ รฟม.เกือบ 100 ล้านบาท ในส่วนของลูกบ้านที่เป็นเจ้าของร่วมและพักอาศัยในโครงการขณะนี้ หลังจากมีคำพิพากษาจากศาลปกคครองออกมาแล้วก็ยังสามารถพักอาศัยต่อได้ เพราะต้องมีขั้นตอนการรอเอกสารการเพิกถอนก่อสร้างอาคารจากทางราชการออกมา

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้บริษัทต้องมีการตั้งสำรองความเสียหายตามสัดส่วนการถือหุ้นที่บริษัทร่วมลงทุนในโครงการแอชตัน อโศก มีมูลค่าที่จะต้องตั้งสำรองฯเข้ามาในงบการเงินของบริษัทราว 250-300 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันโครงการแอชตัน อโศก ขายไปแล้ว 87% จากมูลค่าโครงการ 6,480 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สามีเข้าเกียร์ค้างไว้ สตาร์ทรถพุ่งชนภรรยาดับ

สลด! สามีขับรถใส่เกียร์ค้างไว้ สตาร์ทรถพุ่งชนภรรยาเสียชีวิตในบ้านพักย่านวิภาวดี ตำรวจยังไม่ปักใจเชื่อคำให้การเบื้องต้น นำตัวสอบปากคำอย่างละเอียดอีกครั้ง

คุมฝากขัง “เอ็ม เอกชาติ” เจ้าตัวปิดปากเงียบ

ตร.ไซเบอร์คุมตัว “เอ็ม เอกชาติ” ฝากขัง เจ้าตัวปิดปากเงียบ ไม่ตอบคำถามสื่อ ด้านตำรวจพบเส้นทางการเงินจากเว็บพนัน กว่า 30 ล้านบาท

ข่าวแนะนำ

ออกแล้ว! ผลตรวจเหล็ก 28 ชิ้น ตึก สตง.ถล่ม พบไม่ได้มาตรฐาน 13 ชิ้น

ผลตรวจตัวอย่างเหล็ก 28 ชิ้น ตึก สตง.ถล่มจากแผ่นดินไหว พบได้มาตรฐาน 15 ชิ้น ไม่ได้มาตรฐาน 13 ชิ้น ยังไม่สรุปเป็นสาเหตุตึกถล่ม ชี้ต้องดูหลายองค์ประกอบ

ครบ 72 ชม. ตึก สตง.ถล่ม ไม่หยุดค้นหาผู้รอดชีวิต

ปฏิบัติการค้นหาผู้รอดชีวิตจากเหตุตึก สตง.พังถล่ม แม้เวลาผ่านมาครบ 72 ชั่วโมงแล้ว แต่เจ้าหน้าที่้ทุกฝ่ายยังไม่ละความพยายามในการค้นหาผู้รอดชีวิต หวังมีปาฏิหาริย์

นายกฯ สั่งลดขั้นตอนแจ้งเตือนภัย ลั่นยังไม่ได้ SMS แผ่นดินไหว

นายกฯ ลั่น จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับ SMS เตือนแผ่นดินไหว สั่งลดขั้นตอนแจ้งเตือน “กรมอุตุฯ ไป ปภ. เข้าเครือข่ายมือถือ” ไม่ต้องผ่าน กสทช. ระหว่าง รอ Cell Broadcast เต็มระบบ ก.ค.นี้