ศรีลังกา 2 ก.ค.-พลายศักดิ์สุรินทร์ มีอาการสงบ ไม่ต้องใช้ยาซึม ขึ้นเครื่องบินออกจากศรีลังกาแล้ว ถึงสนามบินเชียงใหม่ บ่ายวันนี้
พลายศักดิ์สุรินทร์ ทูตสันถวไมตรี ออกเดินทางจากศรีลังกาเพื่อกลับไทยแล้ว โดยนางสาวกัญจนา ศิลปอาชา ได้เปิดเผยถึงบรรยากาศขณะเจ้าหน้าที่เคลื่อนย้าย พลายศักดิ์สุรินทร์ ออกจากสวนสัตว์ และขึ้นเครื่องเมื่อเวลา 03.00 น. และมีกำหนดการถึงสนามบินเชียงใหม่ ช่วงเวลา 14.00 น. วันนี้ 2 ก.ค.66 การขนย้ายช้างครั้งนี้ ลูกเรือของเครื่องบินขนส่งตื่นเต้น มาถ่ายรูปพ่อพลาย เพราะเป็นครั้งแรกในการขนย้ายสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยบินมา
สำหรับขั้นตอนการขนย้าย “พลายศักดิ์สุรินทร์” เมื่อคืนที่ผ่านมา (1 ก.ค.) เริ่มตั้งแต่เวลา 22.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นศรีลังกา จากนั้นเวลาประมาณ 23.00 น. นำช้างเดินเข้ากรง โดยใช้รถเครนขนาดใหญ่ยกกรงช้างไปไว้บนรถเทรลเลอร์ลากพ่วง และเวลา 24.00 น. เริ่มขนย้ายทางรถยนต์ จากสวนสัตว์ Dehiwala ไปยังสนามบินบันดารานายาเก กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา และใช้รถเครนขนาดใหญ่ย้ายกรงช้างจากรถเทรลเลอร์ ในช่วงการยกกรงช้างโดยรถเครน ซึ่งขณะปฏิบัติการมีเจ้าหน้าที่ร่วมดำเนินการประมาณ 40 คน ระหว่างเดินทางไปสนามบินมีฝนตกเป็นระยะ หยุดตกเมื่อถึงสนามบิน และเมื่อเวลา 04.49 น. ได้เคลื่อนย้ายกรงเข้าไปในเครื่องบินแบบ Ilyushin IL-76 จากนั้นเครื่องบินขนส่งรัสเซียเริ่มเดินทาง เวลา 09.11 น. เพื่อบินสู่สนามบินเชียงใหม่ ประเทศไทย โดยใช้เวลาในการทำการบินประมาณ 5-6 ชั่วโมง เนื่องจากต้องใช้เพดานบินและความเร็วต่ำ คาดถึงสนามบินเชียงใหม่ประมาณ 14.12 น.
พลายศักดิ์สุรินทร์ อยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิด นายสัตวแพทย์สิทธิเดช มหาสาวังกุลและนายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ รวมถึงควาญช้าง 4 คน ได้แก่ นายทรชัยสิทธิ์ ศิริ นายศุภชัย บุญเกิด นายไกรสร เครือจันทร์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากสถาบันคชบาลแห่งชาติฯ และการอุตสาหกรรมป่าไม้ และ Mr. Don Upul Jayarathna Denelpitiyage หัวหน้าชุดควาญศรีลังกา จากสวนสัตว์ Dehiwala 1 คน ที่ช่วยปฏิบัติหน้าที่ในการร่วมเดินทางดูแลช้างบนเครื่องบินขนส่ง
นายสัตวแพทย์ สิทธิเดช มหาสาวังกุล ผู้ดูแลช้างบนเครื่องบินยืนยันว่า ช้างมีอาการสงบ ยังไม่ต้องใช้ยาสงบประสาท (ยาซึม) แต่เตรียมพร้อมไว้หากเกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้าช้างมีอาการตื่นกลัวระหว่างเดินทาง ทั้งนี้ ภายในกรงได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ติดตามดูอาการ แต่จะไม่สามารถใช้ได้บนเครื่องบิน เนื่องจากไม่มี Wi-Fi โดยจะสังเกตอาการช้างจากช่องที่เจาะไว้ ระหว่างเดินทางจะให้อาหารช้างทีละน้อยเพื่อลดความเครียดระหว่างเดินทาง
พลายศักดิ์สุรินทร์ เป็นทูตสันถวไมตรี โดยย้อนอดีตไปเมื่อปี 2544 ประเทศศรีลังกาได้ขอลูกช้างจากไทยเพื่อนำไปฝึกใช้ในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในงานแห่พระธาตุเขี้ยวแก้ว ซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปีของศรีลังกาที่มีการจัดอย่างต่อเนื่องมากว่า 270 ปี โดยรัฐบาลไทยได้ส่งช้าง 2 เชือกไปเป็นทูตสันถวไมตรี ได้แก่ พลายศรีณรงค์ และพลายศักดิ์สุรินทร์ ขณะที่ก่อนหน้านั้นในปี 2523 ไทยได้ส่งช้างเชือกแรกไปเป็นทูตสันถวไมตรีให้ศรีลังกา คือ “พลายประตูผา” (ปัจจุบันอายุ 49 ปี)
สำหรับพลายศักดิ์สุรินทร์เป็นช้างเชือกที่ 3 ที่ถูกส่งไปเป็นทูตสันถวไมตรีที่ศรีลังกา พลายเชือกนี้เป็น “ช้างเลี้ยง” ไม่ใช่ช้างป่า เป็นช้างที่มีคชลักษณ์โดดเด่นตรงตามความต้องการของศรีลังกา เพื่อใช้ในงานแห่พระธาตุเขี้ยวแก้ว ซึ่งหลังจากถูกส่งไปอยู่ศรีลังกา รัฐบาลศรีลังกาได้โอนกรรมสิทธิ์ช้างเชือกนี้ให้กับวัดคันเดวิหาร (Kande Vihara) เป็นผู้รับช่วงดูแลต่อ เพื่อให้ทำหน้าที่ในขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุในงานแห่พระธาตุประจำปีของศรีลังกา ซึ่งมีเฉลี่ย 30 ครั้งต่อปี
พลายศักดิ์สุรินทร์เดินทางจากเมืองไทยไปอยู่ศรีลังกาตั้งแต่เป็นลูกช้างอายุไม่ถึง 10 ปี จนวันนี้มีอายุราว 30 ปี ถือเป็นช้างที่มีงาสวยงาม อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ หลังจากเดินทางไปศรีลังกาได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “มธุราชา” ต่อมาปี 2565 องค์กร “Rally for Animal Rights & Environment” (RARE) องค์การด้านการพิทักษ์สิทธิสัตว์ในศรีลังกา ได้ร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้แรงงานพลายศักดิ์สุรินทร์ที่ค่อนข้างหนัก ไม่ได้รับการดูแล ถูกล่ามโซ่ มีสภาพผอมโซ มีบาดแผลฝีที่สะโพก ขาบาดเจ็บ ควรได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน
โดยในเดือน ส.ค.65 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ไปเยี่ยมความเป็นอยู่ของพลายศักดิ์สุรินทร์ เดือน ก.ย.65 ส่งทีมสัตวแพทย์ไปตรวจสุขภาพ ผลตรวจสอบพบว่าพลายศักดิ์สุรินทร์มีปัญหาด้านสุขภาพจริง ควรให้ช้างหยุดการทำงานและส่งตัวกลับมารักษาอาการป่วยที่ไทย โดยในเดือน พ.ย.65 ได้ย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์มาดูแลในเบื้องต้นที่สวนสัตว์แห่งชาติศรีลังกา หรือสวนสัตว์เดฮิวาลา (Dehiwala) กรุงโคลัมโบ จากนั้นในเดือน ก.พ.66 รัฐบาลศรีลังกาเห็นชอบว่าพลายศักดิ์สุรินทร์ควรได้รับการดูแลสุขภาพโดยเร่งด่วน และขอบคุณรัฐบาลไทยในความช่วยเหลือดูแลสุขภาพช้าง โดยเห็นชอบให้นำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมารักษาอาการเจ็บป่วยที่ไทย. – สำนักข่าวไทย