17 พฤษภาคม 2568
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล

ในช่วงที่มีการระบาดของทองปลอมเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ความท้าทายของการตรวจสอบทองปลอมคือกระแสการนำ ทังสเตน โลหะที่มีคุณสมบัติคล้ายกับทองคำมาใช้ในการปลอมแปลง ทำให้ยากต่อการแยกแยะสำหรับประชาชนทั่วไป
ความคล้ายคลึงระหว่าง ทังสเตน และ ทองคำ มาจากความหนาแน่นที่ใกล้เคียงกัน โดยทองคำมีความหนาแน่นประมาณ 19.3 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร ส่วน ทังสเตน มีความหนาแน่นประมาณ 19.25 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร
ความหนาแน่นที่ใกล้เคียงกันมาก ทำให้ไม่สามารถแยกทองคำบริสุทธิ์และทองคำที่ผสมทังสเตนได้จากการชั่งน้ำหนักเพียงอย่างเดียว
เนื่องจากมีราคาที่แตกต่างกันถึง 1,000 เท่า จึงเริ่มพบการนำทังสเตนมาผลิตทองปลอมอย่างแพร่หลายตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980’s เป็นต้นมา
กระบวนการใช้ทังสเตนทำทองปลอมที่พบได้บ่อยคือการนำแผ่นทังสเตนมาชุบทอง หรือการนำทองแท่งมาเจาะรูตรงกลาง แล้วสอดไส้แท่งทังสเตนเข้าไปข้างใน

คดีซื้อทองยัดไส้ทังสเตนในสหรัฐฯ
เมื่อปี 2012 อิบราฮิม ฟาเดิล นักค้าทองรายย่อยต้องสูญเงินไปเกือบ 2 ล้านบาท เมื่อพบว่าทองแท่งน้ำหนัก 10 ออนซ์จำนวน 4 แท่งที่ซื้อจากแหล่งค้าทองเจ้าประจำ กลายเป็นทองคำสอดไส้ทังสเตน
จากเดิมที่ซื้อมาในราคา 18,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 6 แสนบาท เมื่อนำไปหลอมจะเหลือมูลค่าเพียง 3,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1.2 แสนบาทต่อแท่งเท่านั้น
รายงานระบุว่า คดีดังกล่าวเป็นการนำทองคำแท่งที่มีตราประทับ Hallmark มาเจาะรูแล้วนำทังสเตนไปสอดไส้ตรงกลาง ทำให้ไม่สามารถตรวจจากการชั่งน้ำหนักหรือการสังเกตตราประทับ Hallmark
ไมค์ ฟูลเจนซ์ ผู้เชี่ยวชาญจากเว็บไซต์ Universal Coin & Bullion อธิบายต่อสำนักข่าว NBC ว่า วิธีการสอดไส้ทองด้วยทังสเตนมีมานานแล้ว เหยื่อส่วนใหญ่จะเป็นผู้ค้ารายย่อย เนื่องจากผู้ค้ารายใหญ่จะมีอุปกรณ์ตรวจสอบทองคำที่ละเอียดมากกว่า แต่หากเป็นทองแท่งสอดไส้ทังสเตนจะตรวจสอบได้ยากกว่าเหรียญทังสเตนชุบทอง เนื่องจากทองแท่งปลอมจะมีเนื้อทองด้านนอกที่หนากว่า
คดีซื้อทองยัดไส้ทังสเตนในไทย
เมื่อเดือนมีนาคม 2024 สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยเรื่องการปลอมแปลงโลหะทองคำรูปแบบใหม่ หลังเกิดคดีร้านทองคำถูกชาวต่างชาติหลอกขายทองปลอม
โดยพบว่าโลหะที่ใช้ผสมกับโลหะทองคำ เป็นธาตุโลหะ รีเนียม และ ทังสเตน โดยทั้ง 2 ธาตุนี้ หากตรวจสอบด้วยเทคนิคพื้นฐาน เช่น หยดกรด เผาไฟ หรือใช้เครื่องมือ X-Ray ขนาดเล็กในการตรวจจะไม่สามารถพบเจอได้ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ขั้นสูงในการตรวจพิสูจน์เท่านั้นจึงจะพบ เช่น เครื่องมือ X-ray Fluorescence (XRF)
แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการรายย่อยส่วนมากยังไม่มีเครื่อง XRF ในร้านเนื่องด้วยราคาแพง ส่วนร้านที่มีเครื่อง XRF แล้ว แต่ยังไม่ได้ปรับค่าให้ตรวจธาตุโลหะ รีเนียม และ ทังสเตน ก็ไม่สามารถตรวจพิสูจน์ได้เช่นกัน จึงแนะนำให้ผู้ประกอบการที่มีเครื่อง XRF ปรับการตั้งค่าเพื่อให้เครื่องสามารถตรวจจับ รีเนียม หรือ ทังสเตน รวมถึงธาตุโลหะอื่นในลำดับที่ 74 ถึง 82 ของตารางธาตุ เนื่องจากมีมวลใกล้เคียงกัน
พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า การซื้อทองคำ ควรซื้อกับร้านทองเท่านั้น โดยเฉพาะร้านทองที่เป็นสมาชิกสมาคมค้าทองคำ ไม่แนะนำให้ซื้อกับบุคคลทั่วไป ซึ่งจะมีความเสี่ยงสูง และอาจถูกหลอกได้
ข้อมูลอ้างอิง :
https://en.wikipedia.org/wiki/Tungsten
https://www.nbcnews.com/news/us-news/counterfeit-gold-bars-discovered-new-york-city-flna1b5988405
https://www.goldtraders.or.th/ArticleView.aspx?gp=1&id=1294
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter