กรุงเทพฯ 21 ก.พ.- รฟม. โต้เดือด “ชูวิทย์” ประเด็นประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ระบุพูดเลื่อนลอย เงินทอน 30,000 ล้านบาท ทุนเลือกตั้งพรรคการเมือง อยากให้เอาหลักฐานมาโชว์
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดแถลงข่าว ประเด็นตามที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมากล่าวอ้าง ว่ามีการทุจริตในโครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในหลายประเด็น เริ่มจาก ประเด็นการปรับปรุงเกณฑ์การประเมินข้อเสนอในการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1 รฟม. ยืนยันว่า ได้ปรับปรุงเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) เฉพาะวิธีการประเมินข้อเสนอ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการเสนอผลตอบแทนให้แก่ภาครัฐตามที่นายชูวิทย์ฯ กล่าวอ้าง และได้ขยายระยะเวลาการยื่นซองข้อเสนอออกไปอีก 45 วัน ซึ่งประเด็นนี้มีคดีฟ้องร้องในศาลปกครอง โดยมีความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ศาลปกครองสูงสุดได้นั่งพิจารณาคดีครั้งแรก โดยตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 รฟม. ดำเนินการแก้ไขเอกสาร RFP เพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
- ประเด็นการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนครั้งแรก ประเด็นนี้มีคดีฟ้องร้องในศาลปกครอง โดยมีความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ตุลาการผู้แถลงคดี ศาลปกครองสูงสุด ได้แถลงสรุปว่า การยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งแรก ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว และเป็นการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นอันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชน
- ประเด็นการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ ที่นายชูวิทย์ระบุว่า มีการล็อกสเปก ประเด็นนี้มีคดีฟ้องร้องในศาลปกครอง โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการ ศาลปกครองกลาง พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า การดำเนินการคัดเลือกดำเนินการตามกฎหมาย มีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมในการคัดเลือกมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น และไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิหรือกีดกันผู้ใดมิให้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอ จึงมีคำสั่งยกคำร้องคุ้มครองชั่วคราว
- ประเด็นการดำเนินการของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง และเป็นการปฏิบัติโดยไม่ชอบ หรือไม่ ประเด็นนี้มีคดีฟ้องร้องในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยศาลได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า ผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้แก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ยื่นข้อเสนอรายใด
- ประเด็นมีเงินทอน 3 หมื่นล้านบาท ผ่านบัญชีธนาคาร รฟม. เห็นว่า หากนายชูวิทย์ฯ มีหลักฐานเอกสารตามที่กล่าวอ้าง ก็ขอให้นำมาแสดงให้สาธารณชน และส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเพื่อเป็นที่ประจักษ์ด้วย ว่าเป็นการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมายหรือไม่
ทั้งนี้ ย้ำว่า การดำเนินการประกาศเชิญชวนฯ และคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ และ รฟม. ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในมาตรา 35 ถึงมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนตามาตรา 41 เรียบร้อยแล้ว
สำหรับในขั้นตอนต่อไป รฟม. จะรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ถูกฟ้องคดี มาประกอบเรื่องเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ โดยกระบวนการทั้งหมดยืนยันว่าต้องรอการชี้ขาดของศาลฯไม่ได้มีการจะนำส่งให้ครม. อนุมัติทิ้งทวนภายในรัฐบาลชุดนี้ ตามที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด.- ศำนักข่าวไทย