กรุงเทพฯ 6 ธ.ค.- ตำรวจสอบสวนกลาง เปิดยุทธการ “หยุดเถื่อน” ปราบหมอปลอมเสริมความงามเถื่อน บางรายยอมรับ รับฉีดฟิลเลอร์-โบท็อกซ์ ด้วยการศึกษาจากยูทูบ
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับผู้บริโภค หรือ ปคบ. นำทีมแถลงผลการจับกุมกวาดล้างหมอเถื่อนและคลินิกเสริมความงามเถื่อน เบื้องต้นมีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหา 8 คน พร้อมยึดของกลางที่เกี่ยวข้อง 836 รายการ คดีนี้สืบเนื่องจาก ปคบ.ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก อย. พบพฤติกรรมบุคคลแอบอ้างตัวเป็นแพทย์ หลอกเสริมความงามให้ประชาชนในพื้นที่ชลบุรี, สมุทรสงคราม, ปทุมธานี และ กทม.ระหว่างวันที่ 23-29 พฤศจิกายน เจ้าหน้าที่จึงทำการสืบสวน และพบพฤติกรรมลักลอบเปิดคลินิกเสริมความงาม อาทิ ที่สมุทรสงคราม จับกุม น.ส.ธนัศร แอบอ้างเป็นแพทย์ ทั้งที่เรียนจบ ม.6 เคยเป็นผู้ช่วยพยาบาลมา 1 ปี
รายที่ 2 จับกุม น.ส.ศรีษุณี ลักลอบเปิดคลินิกเวชกรรมในซอยรามอินทรา 5 โดยเรียนจบ ปวส. แต่แอบอ้างตัวเป็นหมอมานานถึง 6 ปี
รายที่ 3 จับกุม น.ส.บุญพา เปิดร้านเสริมสวย ลักลอบฉีดเสริมความงามอยู่ที่ซอยนาเกลือ 19 พัทยา สอบสวนพบว่าจบ ม.6 ศึกษาวิธีการฉีดเสริมความงามด้วยตนเองจากช่องทาง YouTube จากนั้นสั่งยาต่างๆ จากช่องทางออนไลน์ และทดลองฉีดหน้าตนเองก่อนในช่วงแรก ก่อนรับลูกค้า ฉีดในราคาถูกกว่าคลินิกทั่วไป
เบื้องต้นผู้ต้องหาทั้งหมดถูกดำเนินคดีในข้อหาประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน
จากคดีนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพให้ข้อมูลว่า การฉีดสารเสริมความงามไม่ว่าจะเป็นฟิลเลอร์ หรือโบท็อกซ์ ถือว่าเป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรม จะต้องให้บริการโดยแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพ และกระทำในสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ไม่มีการเดินสายให้บริการนอกสถานพยาบาลแต่อย่างใด ดังนั้น หากพบเห็นการให้บริการฉีดสารเสริมความงามนอกสถานที่ ขอให้ตั้งข้อสงสัยเป็นหมอเถื่อน หมอกระเป๋า ซึ่งการฉีดสารเสริมความงามด้วยบุคคลที่มิใช่แพทย์ จะส่งผลกระทบต่อร่างกาย ซึ่งอาจมีความรุนแรงถึงขั้นพิการ หรือเสียชีวิต หากประชาชนพบเบาะแสหมอเถื่อน หมอปลอม สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ สายด่วน บก.ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค
รศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา อาจารย์ประจำภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และในฐานะฝ่ายประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การศัลยกรรมต้องใช้เวลาศึกษา เพื่อให้เกิดมั่นใจ ได้แก่ การตรวจหาชื่อแพทย์จากเว็บไซต์แพทยสภา ที่สามารถระบุได้ถึงตัวตนของแพทย์คนดังกล่าวเรียนที่ไหน จบและมีความเชี่ยวชาญสาขาไหน, ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นฟิลเลอร์ โบท็อกซ์ ปลอดภัยและผ่านการรับรองหรือไม่ จากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสถานที่รับทำหัตถการ ควรมีความน่าเชื่อถือ ที่ตั้งชัดเจน ไม่ใช่บริการนอกสถานที่ เพราะการที่มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะมีอุปกรณ์กู้ชีพ หรือแก้ไขเหตุการณ์ได้ทัน
รศ.พญ.รังสิมา กล่าวว่า การทำหัตถการของแพทย์ไม่ว่าจะเป็นการฉีดฟิลเลอร์ หรือโบท็อกซ์ ต้องเรียนและฝึกปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นฝึกจากอาจารย์ใหญ่ หรือการทำหัตถการกับผู้ป่วยต้องมีอาจารย์แพทย์คอยสอนคอยแนะ และจุดที่ฉีดทั้งฟิลเลอร์ หรือโบท็อกซ์ แตกต่างกัน โดยโบท็อกซ์ ต้องฉีดตรงตำแหน่งกล้ามเนื้อ บางคนฉีดผิดที่ เช่น หน้าผาก อาจทำให้ตาตก หรือฟิลเลอร์ หากโดนเส้นเลือดก็อาจตาบอด ทุกอย่างต้องอาศัยการฝึกฝนจนชำนาญ และเรียนเรื่องกล้ามเนื้อต่าง ๆ ของร่างกาย พร้อมย้ำว่าการทำศัลยกรรมต่าง ๆ ไม่ควรเร่งรีบ จึงต้องมีระยะเวลาในการศึกษา หาข้อมูลก่อนทำเสมอ และต้องเข้าใจว่าการทำงานศัลยกรรมจะเอาเรื่องราคา ความสะดวก รวดเร็ว มาเป็นตัวตัดสินใจในการทำไม่ได้.-สำนักข่าวไทย