นราธิวาส 23 พ.ย. – เหตุคาร์บอมบ์แฟลตตำรวจ จ.นราธิวาส พบเบาะแสชายต้องสงสัย แต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ขับรถกระบะเข้ามาจอดก่อนเกิดเหตุ ด้านนักวิชาการมองสถานการณ์ชายแดนใต้มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
เมื่อวานนี้ (22 พ.ย.) เวลาประมาณ 12.45 น. คนร้าย 1 คน แต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ นำรถกระบะประกอบระเบิด (คาร์บอมบ์) มาจอดไว้ภายในบริเวณแฟลตข้าราชการตำรวจ สภ.เมืองนราธิวาส ถ.สุริยะประดิษฐ์ เทศบาลเมืองนราธิวาส โดยหลังนำรถมาจอดเพียงไม่นานได้เกิดระเบิด เกิดเปลวเพลิงลุกไหม้ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะบ้านพักอาคาร 2 ชั้น รวมทั้งแฟลตข้าราชการตำรวจอาคาร 4 ชั้น ที่ตั้งอยู่ตรงกันข้ามเสียหายนับสิบห้อง รวมถึงรถยนต์ รถจักรยานยนต์ บ้านเรือนใกล้เคียง และโรงเรียนอนุบาลนราธิวาส และโรงเรียนนราสิขาลัย โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาประจำจังหวัด ได้รับผลกระทบจากแรงอัดระเบิด ทำให้เด็กนักเรียน และครู หวาดกลัวและต้องหลบอยู่ภายในโรงเรียนเพื่อความปลอดภัย
หลังเกิดเหตุ ตำรวจ ทำทหาร และปกครอง ต้องสนธิกำลังปิดกั้นพื้นที่ระยะรัศมีกว่า 300 เมตร ระดมรถดับเพลิงเข้ามาดับไฟระงับเหตุใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมงควบคุมสถานการณ์ได้ ตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบศพ ร.ต.อ.สุทธิรักษ์ พันธนิยะ รองสารวัตรจราจร สภ. เมืองนราธิวาส เสียชีวิตใกล้รถยนต์คนร้าย ส่วนผู้บาดเจ็บจากเหตุคาร์บอมบ์ครั้งนี้มีจำนวนมาก ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล
หลังเกิดเหตุไม่นาน พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เดินทางลงพื้นที่หลังได้รับการสั่งการจาก นายกรัฐมนตรี พร้อมเปิดเผยว่าผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดจะได้รับการเยียวยาอย่างเร็วที่สุด อยากสื่อสารให้ประชาชน เชื่อมั่นว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย กำลังใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการทำงานแก้ปัญหา เร่งติดตามผู้ก่อเหตุได้ในเร็ววันนี้
ต่อมา พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. พร้อมเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ลงพื้นที่ดูจุดเกิดเหตุที่เสียหายหนัก ก่อนพบกับซากเศษชิ้นส่วนของระเบิดแสวงเครื่องที่คนร้ายประกอบใส่ไว้ในถังแก๊สหุ้งต้มหนัก 50 ก.ก. จุดชนวนตั้งเวลาจาก วงจรไอ.ซี.ไทม์เมอร์ เศษชิ้นส่วนของเหล็กเส้นตัดสั้น จากการลงพื้นที่พบว่าเกิดความเสียหายค่อนข้างรุนแรง จนมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ผู้บาดเจ็บ 43 ราย ส่วนทางคดีจากการประชุมติดตามเร่งรัด ผบช.ภ.9 รายงานให้ทราบว่า คืบหน้ามากพอสมควร ทั้งพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ กล้องวงจรปิด
เบื้องต้น ได้รับรายงานว่า ตำรวจชุดสืบสวนสอบสวนคดีความมั่นคงแกะรอยผู้ต้องสงสัย กล้องวงจรปิดพบภาพชายต้องสงสัย สวมใส่เสื้อโปโลสีเทา กางเกงแบบยุทธวิธีสีกรมเลียนแบบเจ้าหน้าที่ สวมหน้ากากอนามัย ปิดบังใบหน้า พร้อมสวมถุงมือสีดำป้องกันการแกะรอยลายมือที่จะเป็นหลักฐาน ได้ขับรถกระบะสีดำมาจอดภายในแฟลตตำรวจ ช่วงเวลาประมาณ 12.39 น. ก่อนเดินออกไปแบบใจเย็น จากนั้นเกิดระเบิดอย่างสนั่น โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ให้ผู้เชี่ยวชาญทำภาพให้คมชัดนำภาพเปรียบเทียบกับบุคคลในแฟ้มคดีความมั่นคงหรือคล้ายกับผู้ใดในแฟ้มประวัติ ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นเบาะแสบุคคลลักษณะดังภาพ แจ้งเจ้าหน้าที่ หรือ โทรสายด่วน 1341 หรือ 191 ตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนการช่วยเหลือเยียวยา ผบ.ตร. สั่งการให้ ภ.9 และ ภ.จว.นราธิวาส เร่งแก้ปัญหาให้ผู้ใต้บังคับบัญชาที่เดือดร้อน และจัดหาที่อยู่ให้ชั่วคราว และเร่งซ่อมแซมแฟลตที่เสียหายรวมทั้งวางมาตรการความปลอดภัยให้เข้มข้นไม่ให้เกิดขึ้นอีก
ส่วนกรณีของ ร.ต.อ.สุทธิรักษ์ ผู้เสียชีวิต ผบ.ตร.สั่งการให้เสนอปูนบำเหน็จความดีความชอบตอบแทนเป็นกรณีพิเศษ โดยขอเลื่อนเงินเดือนให้ 7 ขั้น, ขอพระราชทานยศเป็น พล.ต.อ. และเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงขึ้นไม่เกิน 2 ชั้นตรา รวมทั้งให้การช่วยเหลือดูแลในส่วนของสิทธิประโยชน์อื่นเป็นกรณีพิเศษ โดยในส่วนของเงินช่วยเหลือต่างๆ รวมเบื้องต้นแล้วกว่า 3 ล้านบาท หลังประชุมเสร็จ ผบ.ตร.เดินทางไปยังโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อเยี่ยมปลอบขวัญให้กำลังใจแก่ตำรวจ รวมถึงประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บ มอบกระเช้าของขวัญและเงินจำนวนหนึ่ง ขณะที่โรงเรียนนราสิกขาลัย ซึ่งอยู่ใกล้กับจุดเกิดเหตุประกาศหยุดการเรียนการสอน 2 วัน จะเปิดเรียนในวันที่ 25 พฤศจิกายน 65
ด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และอาจารย์นักวิจัยสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในปีนี้มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยปี 2564 มีเหตุการณ์เกิดขึ้นทั้งปี ราว 400 เหตุการณ์ แต่ในปีนี้ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงตุลาคม มีเหตุการณ์เกิดขึ้นใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยยังไม่รวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกยน และธันวาคม
จากข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ พบว่า นับตั้งแต่เริ่มการเจรจาพูดคุยสันติสุขในปี 2554 สถานการณ์ความรุนแรง และเหตุการณ์ต่างๆ ในพื้นที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากปีละไม่น้อยกว่า 1,000 เหตุการณ์ ลดลงเหลือ 800 และ 500 ตามลำดับ และในปี 2564 เป็นต้นมาคณะพูดคุยสันติสุขทั้ง 2 ฝ่าย มีความพยายามในการพูดคุยสันติสุขระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีผลเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะการลดความรุนแรง ทั้งการแสวงหาทางออกร่วมกัน การแสวงหาทางออกทางการเมือง และการพูดคุยกับภาคประชาชน ประกอบกับยังมีการบังคับใช้กฎหมาย มีการปิดล้อม วิสามัญคนร้ายอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงเพิ่มขึ้นอีกครั้ง รัฐควรสร้างบรรยากาศของการเจรจาพูดคุยสร้างความไว้วางใจ โดยเริ่มจากรัฐ ให้มีกลไกลเป็นกลางในการลดความรุนแรงของทั้งสองผ่าย เพื่อเดินหน้าเจรจาพูดคุยสันติสุข และหาข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งจะเป็นทางออกที่สำคัญของการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ .-สำนักข่าวไทย