กรุงเทพฯ 28 ต.ค.- ตำรวจไซเบอร์ จับ “พ.ต.ท.” และเจ้าหน้าที่กระทรวงแห่งหนึ่ง ขายข้อมูลคนไทยให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์นำไปหลอกลวง พบเงินบัญชีม้า โอนเข้า 20,000 บาทต่อวัน หรือเดือนละ 600,000 บาท มีข้อมูลคนไทยถูกฉกไปขายแล้วกว่า 1,000 คน
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่าจากปฏิบัติการ “เด็ดปีกมังกร” จับเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 16 ราย เป็นกลุ่มรับจ้างเปิดบัญชีม้า 8 ราย กลุ่มรวบรวมบัญชีม้าเพื่อส่งต่อให้นายทุนชาวจีน 1 ราย และกลุ่มที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลผู้เสียหายเพื่อนำไปใช้ในการหลอกลวง 2 ราย โดยระบุว่าผู้ที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลของผู้เสียหายเพื่อนำไปใช้ในการหลอกลวง 2 รายดังกล่าว เป็นเจ้าที่รัฐ ซึ่งจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบเงินจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์โอนเข้าบัญชีของเจ้าที่รัฐทั้ง 2 รายอย่างต่อเนื่อง คาดว่าทำมานานพอสมควร โดยมีข้อมูลของคนไทยถูกฉกไปขายให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์แล้วกว่า 1,000 ข้อมูล โดยเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ราย อยู่ในส่วนงานที่สามารถดูฐานข้อมูลของผู้เสียหายได้
มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกจับรายแรก เป็นตำรวจยศ “พ.ต.ท.” พฤติการณ์ คือจะเข้ารหัสไปกดดูฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของผู้เสียหาย โดยพบว่าเข้าไปกดดูมากจนนับครั้งไม่ถ้วน
ส่วนรายที่ 2 มีรายงานว่า เป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่างของกระทรวงแห่งหนึ่ง ผู้ต้องหารายนี้จะเข้าระบบไปล้วงข้อมูลการจดทะเบียนการค้า หรือตราธุรกิจของผู้เสียหาย ไปขายให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามจากทางตำรวจว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงดังกล่าว เป็นคนดูข้อมูลว่าเหยื่อว่ารายใดรวย มีทุนจดทะเบียนทางธุรกิจด้วยเงินจำนวนมากแล้วจึงค่อยนำข้อมูลไปขายให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช่หรือไม่ หรือว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตกเบ็ดเหยื่อได้ก่อนแล้วจึงค่อยมาซื้อข้อมูลของเหยื่อจากผู้ต้องหาในภายหลัง ซึ่งไม่ได้รับการยืนยันว่าขั้นตอนใดเกิดขึ้นก่อน-หลัง
โดยผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย จะมีรายได้จากการขายข้อมูลคนไทยให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวจีน วันละ 20,000 บาท หรือเดือนละ 600,000 บาท ซึ่งทางธนาคารพบการเคลื่อนไหวของเงินจากบัญชีม้า เข้ามายังบัญชีของผู้ต้องหา จึงประสานตำรวจตรวจสอบ และนำไปสู่การจับกุมดังกล่าว
สำหรับผู้เสียหายรายล่าสุดที่ถูกฉกข้อมูลทะเบียนราษฎร์ไปขายให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นหมอ อาศัยอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทำปลอมเว็บไซต์ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI แล้วโทรแจ้งผู้เสียหายว่าทำความผิดคดีอาญาจะต้องถูกตรวจสอบเงินในบัญชี พร้อมส่งหมายจับปลอมที่มีภาพใบหน้าของผู้เสียหาย และข้อมูลทางธุรกิจไปให้ผู้เสียหายดู ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปยังบัญชีม้าจำนวนกว่า 6,970,000 บาทก่อนจะมารู้ภายหลังว่าถูกหลอกแจ้งความออนไลน์เมื่อ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา. -สำนักข่าวไทย