ศาลรัฐธรรมนูญ 7 ก.ย.-เลขาฯ ศาล รธน. ยันพรุ่งนี้ยังไม่วินิจฉัยวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี แค่พิจารณาว่าต้องหาหลักฐานเพิ่มหรือไม่ แล้วกำหนดวันวินิจฉัย คาดไม่เกิน 7 วัน ยอมรับประธานศาลไม่สบายใจกรณีคำชี้แจง “มีชัย” ว่อนเน็ต ไม่ยืนยันของจริงหรือไม่ ต้องตรวจสอบ
นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ตามที่มีข่าวสารว่าพรุ่งนี้ (8 ก.ย.) จะมีผลการวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี หรือไม่ โดยมีข่าวว่าจะมีมติออกมาเป็นกี่เสียงนั้น ขอชี้แจงว่าโดยกระบวนการยังไม่ถึงขั้นมติจะเป็นอย่างไร วันพรุ่งนี้เป็นเพียงนำข้อมูลข่าวสารของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาพิจารณาว่าจะนำไปสู่การวินิจฉัยตัดสินได้หรือไม่ หากยังไม่พอก็จำเป็นต้องหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม ด้วยวิธีการที่กฎหมายกำหนด เช่น ขอหลักฐานเพิ่มเติมหรือขอให้พยานบุคคลมาให้ถ้อยคำ หรือให้หน่วยงานราชการ หรือพนักงานสอบสวนกระทำเพื่อให้การอย่างไรที่เป็นประโยชน์ในการพิจารณาของศาล ซึ่งเป็นไปตามลำดับกระบวนการวิธีพิจารณา
สำหรับขั้นตอนในการพิจารณาคดีนี้ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า คำร้องลักษณะนี้ ไม่มีเงื่อนเวลากำหนดไว้ แต่ขั้นตอนเป็นไปโดยกระบวนการพิจารณาที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งศาลเดินไปตามขั้นตอนนั้น
“ที่มีคำถามว่าการประชุมพรุ่งนี้เป็นการเร่งรัดให้เร็วหรือช้าลง ศาลไม่ได้คิดเช่นนั้น แต่ศาลเห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญและมีกรณีเดียว ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่าถ้าพยานหลักฐานข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การพิจารณาวินิจฉัย ให้ศาลยุติการแสวงหาพยานหลักฐานและให้กำหนดประเด็นการวินิจฉัย เมื่อกำหนดประเด็นแล้ว ศาลจะนัดอ่านคำแถลงตามสำนวนคำวินิจฉัยของตุลาการแต่ละคน ปรึกษาหารือกันและลงมติ ซึ่งตามประเพณีปฏิบัติจะลงมติในช่วงเช้าและจะอ่านในช่วงบ่าย ซึ่งการที่ศาลจะอ่าน ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในระหว่างไต่สวน ศาลจะนัดล่วงหน้า โดยมีกรอบเวลาขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 7 วัน ให้คู่ความมาฟังคำวินิจฉัย แต่ถ้าเรื่องนั้นอยู่ระหว่างการไต่สวน ศาลสามารถแจ้งคู่กรณีในการไต่สวนครั้งหลังสุดได้เลย แต่ณ เวลานี้การไต่สวนยังไม่มี ดังนั้น หากศาลจะนัดก็จะนัดตามเกณฑ์ของกฎหมายขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 7 วัน” นายเชาวนะ กล่าว
เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การแสวงหาพยานหลักฐานมีทุกรูปแบบ ขึ้นอยู่กับศาลจะใช้ดุลยพินิจขององค์คณะ ไม่ใช่ตุลาการท่านหนึ่งท่านใด โดยจะขอเป็นพยานหลักฐานหรือจะให้บุคคลเป็นพยานให้ หรือจะไต่สวนก็ได้ ต้องใช้พยานหลักฐานขึ้นอยู่กับลักษณะของคดีว่าต้องใช้พยานหลักฐานแบบไหนที่จำเป็นและเกี่ยวข้อง และมีผลต่อการพิจารณา
ส่วนกรณีหนังสือคำชี้แจงของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หลุดสู่สาธารณชน นายเชาวนะ กล่าวว่า เรื่องนี้ประธานศาลรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญและมีความกังวลอย่างมาก โดยจะติดตามตรวจสอบต่อไปว่าเป็นเอกสารมีที่มาที่ไปอย่างไร ทั้งยังกังวลกรณีมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ความเห็นนั้น รวมทั้งพาดพิงกระทบไปถึงผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ จึงขอแจ้งว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้นิ่งนอนใจและให้ตรวจสอบที่มาที่ไป ขอแสดงความเสียใจผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหนังสือดังกล่าวระบุว่าส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนจะเป็นข้อมูลจริงหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบ
“ข่าวสารการพิจารณาวันประชุมเป็นอย่างไร ขอให้ติดตามจากการแถลงของศาลอีกครั้ง ในชั้นนี้ขอกราบเรียนเรื่องเอกสารที่มีการเล็ดลอดเผยแพร่ทางสื่อโซเชียลในชั้นนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในกระบวนการ ซึ่งถือว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาที่ยังไม่เสร็จสิ้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่พึงระมัดระวังและเพิ่มความรอบคอบ แม้จะไม่ทราบว่ามาจากไหน อย่างไรหลุดมาจากนี้หรือไม่” เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าว
ส่วนเอกสารที่ออกมาเป็นของจริงหรือไม่นั้น เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ยังยืนยันไม่ได้ เพราะเห็นเช่นเดียวกับสื่อ.-สำนักข่าวไทย