ขอตุลาการฯ ชุดใหม่ตัดประกาศคณะปฏิวัติออกจากกฎหมาย

โรงแรมอัศวิน 10 เม.ย.- อดีตตุลาการ ศาลรธน. ขอตุลาการฯ ชุดใหม่ตัดประกาศคณะปฏิวัติออกจากกฎหมาย พร้อมบอกฝ่ายการเมือง ถ้าไม่อยากให้ศาลรธน.ยุบพรรค ก็ควรแก้กฎหมาย ด้านนักวิชาการให้คะแนนเต็ม100 กับความอดทนต่อแรงเสียดทาน แต่ลดคะแนนการสื่อสารกับปชช. ขณะ “วรเจตน์” มองอนาคตสร้างความเชื่อมั่นเป็นองค์กรที่เป็นกลาง


สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จัดงานสัมมนาอภิปรายร่วมกัน หัวข้อ “ศาลรัฐธรรมนูญกับการก้าวสู่ทศวรษที่ 4 บทบาทและความคาดหวัง”
ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐรรมนูญ , ศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์, ศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีนายบากบั่น บุญเลิศ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (เทอแลนต์) จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมกรรมการ บริษัท ฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย จำกัด เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งในช่วงแรกได้ให้วิทยากรแต่ละคนให้คะแนนการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ

โดยศาสตราจารย์พิเศษจรัญ กล่าวว่า ตนอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญมา 12 ปีเต็ม ทำงานเต็มที่ และพยายามศึกษาความเป็นมา เริ่มตั้งแต่คดีซุกหุ้น ศาลรัฐธรรมนูญถูกมองว่าไม่ใช่ศาลแต่เป็นองค์กรอิสระ และถูกตั้งฉายาว่าเป็นศาลการเมือง จึงต้องทำให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีสถานะเป็นศาลเป็นฝ่ายตุลาการของประเทศไม่ใช่เป็นเพียงการตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญ มีสถานะเป็นเพียงองค์กรอิสระ จะไม่มีความมั่นคงเข้มแข็งพอที่จะถ่วงดุลทางการใช้อำนาจอธิปไตย คือฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ซึ่งป.ป.ช. ก็ตรวจสอบเฉพาะด้าน ทุจริตและประพฤติมิชอบ กกต. ก็รับหน้าที่ดูแลด้านการจัดการเลือกตั้ง ดังนั้นถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีสถานะเป็นฝ่ายตุลาการ เหมือนศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ จะไม่สามารถคานอำนาจหน้าที่ฝ่ายบริหารและฝ่าย นิติบัญญัติได้ และเห็นว่านับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ถือว่าศาลรัฐธรรมนูญทำภารกิจนี้สำเร็จ โดยถ้าจะให้คะแนน ก็จะให้80%


ศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ กล่าวว่า สำหรับตนให้คะแนนดีมากสำหรับวิทยานิพนธ์ ที่ศึกษาบทบาท อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2541-57 ซึ่งที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญ มีคดีความจำนวนมาก ทั้งยุบพรรค ตัดสิทธิ์ทางการเมือง หากให้คะแนนความอึดอดทน อุตสาหะกับอ่านกฎหมายและกระแสโจมตี ให้ 100% และยังมีเรื่องของการคุกคามที่หนักมาก ซึ่งตนเห็นด้วยว่ถ้าไม่อยากให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก็อย่าเขียนรัฐธรรมนูญให้มีบทบัญญัติ เรื่องการยุบพรรคแต่คะแนนการสื่อสาร ขอให้น้อย เพราะไม่ค่อยมีคำอธิบาย และสื่อสารกับประชาชน

ศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ กล่าวว่า การจัประเมินให้คะแนนศาลรัฐธรรมนูญค่อนข้างยาก เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันมาอย่างต่อเนื่อง จึงต้องประเมิน ในแต่ละช่วงเวลาจากรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับที่มีความแตกต่าง จะมีประเด็นหนึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญ ทำได้ค่อนข้างทำได้ดีคือความอดทนต่อการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งที่ผ่านมาตนก็วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญเรื่อยมา และไม่เคยมีกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมาใช้อำนาจอะไรกับตนที่วิพากษ์วิจารณ์

ศาสตราจารย์ ดร.อุดม กล่าวว่า การจะบอก ว่าใครบวกใครลบ เกิดจากอคติหรือทัศนคติที่เรามี ซึ่งตนมีความคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญเกิดจากความคิด ที่จะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ทำให้บ้านเมืองอยู่ภายใต้ระเบียบเหตุผลของกฎหมาย ไม่ใช่ต่างคนต่างว่ากันไปคนละทิศคนละทาง อยากมองว่าในบริบทของเรา เราเคยตั้งคำถามว่า มีศาลรัฐธรรมนูญไว้ทำไม ซึ่งตนคิดว่าคำถามนี้ไม่น่าจะมีอีกต่อไป เมื่อเรามีรัฐธรรมนูญก็จะมีคดีรัฐธรรมนูญขึ้นมา จึงจำเป็นต้องมีคนตัดสิน และถึงตอนนี้บ้านเมืองถึงจุดที่ ว่าควรต้องมีองค์กรขึ้นมาพิพากษา ข้อพิพาทในรัฐธรรมนูญ ทั้งปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ใครควรถูกตัดสิทธิ ใครควรถูกยุบพรรค ซึ่งหลายเรื่อง มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ ดังนั้นยากที่จะตอบ แต่สุดท้ายตนเชื่อในความสุจริตใจของตุลาการแต่ละท่าน แต่ละคนมีอุดมคติและความเข้าใจในแต่ละบริบท เมื่อตัดสินไม่ถูกใจ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งตนยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ท้ายสุดเราต้องยืนยันว่าสิ่งที่เราทำ ทำในฐานะคนที่ได้รับมอบหมาย ตนจึงมองว่าถ้าวันนี้ รัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องทำหน้าที่ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาในเชิงกฎหมาย ก็คิดว่าเรามีองค์ความรู้ที่จะตอบโจทย์ตรงนี้ได้ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ ไม่ควรถามว่าสอบผ่านหรือไม่ แต่ควรถามว่าเราจะเดินหน้าไปอย่างไร


สำหรับแง่คิดมุมมองบทบาทและความคาดหวังของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ก้าวสู่ศตวรรษที่ 4 นั้น ศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ กล่าวว่า บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในช่วงท้ายเริ่มต้นขึ้น จากการทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะก่อนที่จะมีการรัฐประหารในปี 57 เป็นคำวินิจฉัยที่เปิดทางให้เกิดรัฐประหาร ซึ่งการตัดสินวินิจฉัยคดีส่งผลสะท้อนทางการเมือง และตั้งแต่ปี 50 ศาลรัฐธรรมนูญ กลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่มีบทบาทและส่งผลต่อทิศทางทางการเมือง และในรัฐธรรมนูญปี 60 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากขึ้น เช่นเพิ่มอำนาจในการตีความมาตราฐานจริยธรรมส่วนบุคคล ทำให้กลายเป็นบุคคลที่คิดเป็นชี้ตายทางการเมืองมากขึ้น ดังนั้นศาลต้องมองว่าการตีความจะส่งผลกระทบอะไรต่อไปในอนาคตข้างหน้า และการเป็นคนกลางในบริบทของชีวิตทางการเมืองหรือของรัฐธรรมนูญ คนจะมองว่าศาลยืนอยู่ตรงกลางจริงๆหรือไม่ แต่ในอนาคตควรจะปรับเปลี่ยนสถานะองค์กร ที่มาของตุลาการ อำนาจหน้าที่ รวมทั้งตัวบทกฎหมายวิธีพิจารณาความ และในระยะยาวควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ

ศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ กล่าวว่า เป็นองค์กรที่จะช่วยทำให้ไม่เกิดปัญหาในสงคราม ความขัดแย้งที่จะชี้ว่าฝ่ายไหนผิดหรือถูก แต่ถ้าหากไม่มีใครฟังและสมมุติเกิดรัฐประหารขึ้น ไม่ได้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีรัฐธรรมนูญให้ดูแลตุลาการจะอยู่ต่อไป ตามที่คณะรัฐประหารต่อเวลาให้หรือไม่ หรือตุลาการจะทำอย่างไร หากไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ ใครจะมาดูแลรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร, วุฒิสภาหรือรัฐสภาจะดูแลได้หรือไม่ หรือให้องค์กรไหนดูแล

ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ กล่าวว่า ประกาศของคณะปฏิวัติมีสถานะเป็นกฎหมายยั่งยืนยาวนาน แม้พ้นภารกิจไปแล้ว ดังนั้นประกาศของคณะปฏิวัติไม่น่าจะเป็นกฎหมายได้อีกต่อไป ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาที่แก้ไม่จบ เพราะเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ จึงอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญชุดปัญจจุบัน แก้ให้ได้ เพียงแค่วินิจฉัยว่าคณะปฏิวัติที่พ้นจากอำนาจไปแล้วบรรดาคำสั่งประกาศที่เคยเป็นกฎหมาย พ้นสภาพความเป็นกฎหมายต่อไป ถ้าตุลาการใช้อำนาจที่มีสามารถกำหนดเงื่อนไขเงื่อนเวลาสภาพบังคับคำวินิจฉัยได้ ส่วนประกาศใดของคณะรัฐประหารที่ต้องการให้เป็นกฎหมายต่อก็ให้ออกเป็นพ.ร.บ.ผ่านสภาฯ แต่ก็ไม่ทำ นี่คือสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญยุคใหม่และสิ่งที่ประชาชนคนไทยอยากเห็นอยากได้ ไม่เช่นนั้นจะเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้อย่างไรถ้าเอาประกาศคณะปฏิวัติมาเป็นกฎหมาย และขอร้องฝ่ายการเมือง ฝ่ายนิติบัญญัติอย่า เขียนกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลใด ต้องสั่งให้ยุบพรรคการเมือง มันไม่มีประโยชน์อะไร เพราะการยุบพรรคการเมืองทำให้ประชาชน ที่สามัคคีกันกลายเป็นเผชิญหน้า

ส่วนการดำเนินงานของศาลธรรมนูญขอ 3 ข้อ คือ 1.ไม่เปิดช่องให้อำนาจรัฐ อำนาจทุน อำนาจเถื่อน เข้ามาแทรกแซงชี้นำครอบงำ การทำงานของเหล่าตุลาการ 2.ต้องสำรวจมาตราฐานของศาลรัฐธรรมนูญของนานาประเทศ ว่าเราชอบธรรมหรือไม่ ต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล แต่ต้องปรับให้พร้อมกับอารยธรรมชีวิตและระบบกฎหมายของไทย เช่น ประเทศอื่นมีกาสิโนมีเงินเข้าประเทศ 2-3หมื่นล้านบาท แต่อารยธรรมของไทยไม่ใช่ 3.เราต้องทำภารกิจที่สำคัญอีกอย่างคือใช้นโยบายเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่กอบโกยกันตามกำลัง มือใครยาวสาวได้สาวเอา

ศาสตราจารย์ ดร.อุดม กล่าวว่า ถ้าเราวางศาลรัฐธรรมนูญให้ทำหน้าที่คุ้มคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ในขณะเดียวกัน ต้องรักษากติกาสร้างเสถียรภาพ การเมืองการปกครองให้บ้านเมืองสามารถดำรงอยู่ได้มั่นคงนั้น ทั้ง 2 สิ่ง บางเรื่องเหมือนจะไปด้วยกัน แต่บางเรื่องเหมือนจะไม่ไปด้วยกัน เพราะมุมมองทัศนคติของแต่ละคนแตกต่างกัน จึงอาจจะจำเป็นต้องสร้างมาตรฐานในการทำความเข้าใจกัน โดยใช้เหตุผล และจำเป็นที่จะต้องรู้ว่าปัญหาบ้านเมืองของเราเป็นอย่างไร ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะเราต่างคนต่างโทษกันไป จึงจำเป็นต้องพยายามหาเกณฑ์ตรงกลาง และหาสมดุล แต่ในหลายเรื่องที่คณะตุลาการพิจารณามีความปรารถนาดีอยากเห็น ทางออกที่เหมาะสม.-312 -สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เจรจาล่ม ตัวแทนจีนไม่พอใจลุกกลางวงเจรจา ยันไม่ติดเงินใคร

เจรจาล่ม ตัวแทนจีนไม่พอใจ ลุกกลางวงเจรจา ยันไม่ติดเงินใคร ด้านบริษัท 9PK นำเอกสารชี้แจง พร้อมขอให้บริษัทจีนช่วยอนุมัติเงินมาจ่ายให้กลุ่มผู้รับเหมาก่อน

จับแล้วโจรบุกเดี่ยวชิงทองกลางเมืองหาดใหญ่

จับแล้วโจรมาเลย์บุกเดี่ยวชิงทองกลางเมืองหาดใหญ่ จนมุมสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ เผยมาหาลูกชายที่ จ.นนทบุรี แต่ลูกไม่ให้เข้าบ้าน

ปิดล้อมจับชายวัย 43 ยิงเพื่อนบ้าน-ตร.เจ็บ 4

ตำรวจปิดล้อมนานถึง 11 ชั่วโมง จับชายวัย 43 ปี ใช้ปืนยิงเพื่อนบ้านและตำรวจที่เข้าระงับเหตุ บาดเจ็บรวม 4 ราย หลังโมโหเพื่อนบ้านติดกล้องวงจรปิดหันส่องไปทางบ้านผู้ก่อเหตุ ยิงแก๊สน้ำตา-ญาติเกลี้ยกล่อม ยังไม่เป็นผล

แผ่นดินไหวขนาด 5.8 ในไต้หวัน-ไม่มีรายงานความเสียหาย

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาไต้หวันรายงานวันนี้ว่า เกิดแผ่นดินไหวขนาดด 5.8 ที่เทศมณฑลอี้หลาน (Yilan) ซึ่งเป็นพื้นที่ชนบทห่างไกลทางตจะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

ข่าวแนะนำ

บขส.เสริมรถอีก 1,000 คัน รองรับผู้โดยสารขาออกวันนี้

การเดินทางขาออกในเทศกาลสงกรานต์ 2568 ถือว่ารถโดยสารของ บขส. ยังมีบทบาทสำคัญ เพราะเป็นวันหยุด มีผู้โดยสารเดินทางแน่นตลอดวัน วันนี้ บขส.เสริมรถอีก 1,000 คัน รองรับผู้โดยสาร

นายกฯ เปิดงาน “Maha Songkran World Water Festival 2025”

นายกรัฐมนตรี เปิดงาน “Maha Songkran World Water Festival 2025” ณ ท้องสนามหลวง ฉลองปีใหม่ไทย จัดเต็มปรากฏการณ์สาดความสุขครั้งยิ่งใหญ่ หนุนมรดกไทยสู่ World Event ระดับโลก

สงกรานต์หาดใหญ่ คาดเงินสะพัด 780 ล้านบาท

สงกรานต์หาดใหญ่ จ.สงขลา ปีนี้คึกคัก ททท. คาดมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาร่วมกิจกรรมกว่า 7 หมื่นคน เงินสะพัดทั่วจังหวัดกว่า 780 ล้านบาท

สงกรานต์เชียงใหม่วันแรกชุ่มฉ่ำทั่วทั้งเมือง

สงกรานต์ จ.เชียงใหม่ วันแรกคึกคัก ชาวเชียงใหม่-นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ แห่ร่วมกิจกรรม เล่นสาดน้ำชุ่มฉ่ำทั่วทั้งเมืองตลอดวันจนถึงช่วงค่ำ