กรุงเทพฯ 27 มี.ค. – ธปท.ประกาศแบงก์ทุกแห่งต้องไม่บังคับ ไม่หลอกหลวง ไม่รบกวน เปิดเผยโปร่งใส ในการขายประกัน
นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปี 2559 มีประชาชนร้องเรียนผ่านศูนย์คุ้มครองทางการเงิน ธปท. 1213 จำนวน 1,588 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นข้อร้องเรียนเรื่องเงินต้น ยอดหนี้ ไม่ถูกต้อง การดำเนินการล่าช้า ปัญหาการฝากถอนโอนผ่าน ATM ปัญหาการคิดดอกเบี้ย การบังคับขายผลิตภัณฑ์ เสนอขายจนเกิดความไม่พอใจ และการนำข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าไปใช้ เป็นต้น ซึ่ง ธปท.ทำการสุ่มตรวจสอบแบบไม่แสดงตนสาขาธนาคาร 143 สาขา พบเจ้าหน้าที่มีความบกพร่องในการให้ข้อมูลจากเบาไปหาหนักประมาณร้อยละ 90 ธปท.ทำการรวบรวม เพื่อปรับปรุงระบบการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ โดยเน้นย้ำต้องสร้างวัฒนธรรมการเอาใจใส่ลูกค้าให้เป็นธรรม เหมาะสม มีจรรยาบรรณในการดูแลลูกค้า โดยปี 2560 ธปท.จะให้ความสำคัญเรื่องการขายประกันและความเป็นส่วนตัวของลูกค้าเป็นพิเศษ โดยยึดหลัก ” ไม่บังคับ ไม่หลอกหลวง ไม่รบกวน และเปิดเผยโปร่งใส”
“ธปท.ย้ำสถาบันการเงินห้ามบังคับขายผลิตภัณฑ์พ่วงประกันและให้ระมัดระวังการนำข้อมูลของลูกค้าไปใช้ต้องได้รับความยินยอม รวมทั้งให้ทำตารางรายละเอียดข้อมูลสำคัญ ๆ ให้เห็นชัดเจน เพื่อลูกค้าจะได้ศึกษาถึงความเสี่ยงก่อนลงนามในสัญญา พร้อมกันนี้จะส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้าใจผลิตภัณฑ์การเงิน เปรียบเทียบได้และเลือกให้เหมาะกับตนเอง ทั้งผลิตภัณฑ์พ่วงประกัน เงินฝาก บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล” นายรณดล กล่าว
ขณะเดียวกันปลายปีนี้ ธปท.จะออกเกณฑ์การกำกับดูแลการบริการของสถาบันการเงินให้มีความเป็นธรรม ซึ่งจะครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ เพื่อให้บริการผู้บริโภคอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งให้สถาบันการเงินปฏิบัติอย่างเคร่งครัด หากเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินกระทำผิดจะมีบทลงโทษในหลายระดับ การเรียกสถาบันการเงินมาชี้แจงเป็นรายกรณี ลงโทษปรับสถาบันการเงิน มีผลต่อการจัดเรตติ้งของสถาบันการเงินและเกณฑ์การพิจารณาขึ้นเงินเดือนของพนักงานด้วย ซึ่งระยะต่อไป ธปท.กำลังศึกษาอาจจะมีการประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงินที่กระทำไม่เหมาะสมในเว็บไซต์ของ ธปท. เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนประกอบการตัดสินใจ
นายรณดล กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยมีความรู้ทางการเงินค่อนข้างน้อย คะแนนเฉลี่ยความรู้ทางการเงินของประเทศไทยเท่ากับร้อยละ 58.5 ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของ 14 ประเทศที่เข้าร่วมประเมิน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 62.3 ธปท.คาดหวังว่าความรู้ทางการเงินของคนไทยจะดีขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยภายในปี 2563 ตามที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD ) กำหนดไว้.- สำนักข่าวไทย