กรุงเทพฯ 22 มิ.ย. – ธปท.สั่งแบงก์ประเมินและทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุน 1-3 ปีข้างหน้า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งภายในสิ้นกรกฎาคมนี้ พร้อมยืนยันระบบสถาบันการเงินไทยยังแข็งแกร่ง เชื่อไม่ซ้ำรอยวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ย้ำถึงกรณีส่งหนังสือเวียนให้สถาบันการเงินงดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานปี 2563 และห้ามซื้อหุ้นคืนนั้น เป็นไปตามแนวทางของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารกลางหลายประเทศที่สามารถทำได้ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติ เช่น ยุโรป อังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดา และนิวซีแลนด์ จึงมองว่าเป็นเรื่องที่นักลงทุนต่างชาติเข้าใจ และเชื่อว่าหากมีการสื่อสารสร้างความเข้าใจไปยังนักลงทุนไทยและกลุ่มลูกค้าของสถาบันการเงิน ก็จะไม่ทำให้เกิดความตื่นตระหนกหรือการแห่ถอนเงิน
พร้อมกันนี้ยังขอให้สถาบันการเงินทำประเมินและจัดทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุน สำหรับระยะ 1-3 ปีข้างหน้า หรือ Stress Test ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อเสริมสร้างเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19 และสามารถสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงฟื้นตัวหลังโควิด-19 รวมทั้งเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ฝากเงินและนักลงทุน โดยให้ส่งกลับมายังแบงก์ชาติภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563
รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ระบุด้วยว่า สถานะกองทุนของสถาบันการเงินไทยขณะนี้อยู่ที่ ระดับ 18.7% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูงและยังสามารถรองรับความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19 ไปได้อีกระยะหนึ่ง ขณะที่ระดับหนี้เสีย หรือ NPL ในระบบ ณ สิ้นไตรมาส 1/2563 อยู่ที่ระดับ 3.05% จึงมั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยปี 2540 ที่ขณะนั้นตัวเลข NPL พุ่งสูงถึง 50% ขณะที่ปัจจุบันสถาบันการเงินของไทยมีความแข็งแกร่งและมีมาตรการเชิงรุกดูแลลูกหนี้ อย่างไรก็ตาม หากสถานะเงินกองทุนลดต่ำลง ก็สามารถเพิ่มทุนได้ผ่านรูปแบบ เช่น การระดมทุน การออกหุ้นกู้ ซึ่งการงดจ่ายปันผลก็เป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มเงินเข้าสู่กองทุนด้วย ส่วนกรณีที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น จะมีการขอให้งดจ่ายเงินปันผลทั้งปีหรือไม่นั้น ยังต้องรอประเมินสถานการณ์อีกครั้ง .- สำนักข่าวไทย