ประจวบคีรีขันธ์ 27 มี.ค.- ทีมวิจัยปลื้มความสำเร็จประชากรนกเงือกเพิ่มโดยธรรมชาติในโพรงเทียมถังไวน์ไม้โอ๊คเก่า หลังทดลองติดตั้งกลางป่ายะลา-นราธิวาส
นายบุญลือ พูลนิล นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ประธานชมรมรักษ์กระทิงไทย เปิดเผยว่า หลังจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับมูลนิธิศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะมัฑนศิลป มหาวิทยาลัยศิลปากร และบริษัทสยามไวน์เนอรี่ เทรดดิ้งพลัส จำกัด ต.หนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ดำเนินโครงการทดลองพัฒนาโพรงรังเทียมจำนวน 11 โพรง จากไม้โอ๊คถังไวน์เก่าขนาด 200 ลิตร ถือเป็นนวัตกรรมการอนุรักษ์นกเงือก โดยนำไปติดตั้งในพื้นป่าสำคัญทั่วประเทศ ล่าสุดได้รับรายงานว่าในพื้นภาคใต้มีนกเงือกเข้ามาใช้โพรงรังเทียมขยายพันธุ์ตามธรรมชาติแล้ว โดยเฉพาะสวนป่าพระนามาภิไธยภาคใต้ ส่วนที่ 2 อ.ธารโต จ.ยะลา และอุทยานแห่งชาติบูโด – สุไหงปาดี อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส
นายบุญลือ อธิบายว่า การทำโพรงเทียมนั้น ได้ถังไวน์เก่ามีความกว้าง 70 ซม. สูง 100 ซม. มาทำความสะอาด ซ่อมรอยรั่วและทาน้ำยากันซึม พร้อมเจาะปากโพรง นำดินมาใส่ให้ต่ำกว่าปากโพรงเล็กน้อยใกล้เคียงกับโพรงธรรมชาติ เพื่อให้นกเงือกใช้เป็นวัสดุสำหรับผสมกับมูลของนกเพื่อปิดปากโพรง จากนั้นนำไปยึดกับต้นไม้ที่รับน้ำหนักได้ ซึ่งใช้เวลาติดตั้งโพรงละ 3-5 ชั่วโมง ต่อโพรงถังน้ำหนัก 60 กิโลกรัม ระยะความสูงจากพื้นดิน 5-7 เมตร ขึ้นอยู่สภาพแวดล้อมตามที่นักวิจัยกำหนดในแต่ละพื้นที่
“เท่าที่สังเกตการณ์การขายพันธุ์ของนกเงือกและเก็บข้อมูลจากการใช้โพรงเทียมอย่างต่อเนื่อง พบว่าโพรงจริงกับโพรงจากถังไวน์ไม่มีความแตกต่างกัน ทีมวิจัยจึงนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ให้กับสภาพสิ่งแวดล้อม และการติดตั้งโพรงเทียมทีงานวิจัยจะติดตาม 3 ฤดูทำรังของนกเงือก เพื่อนำมาประเมินผล”.-สำนักข่าวไทย