กรุงเทพฯ 25 มี.ค. – เงินบาทแข็งค่าสุดรอบ 7 เดือน ขณะที่หุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้น ท่ามกลางการไหลเข้าของเงินทุนในตลาดเกิดใหม่ จับตาผลประชุม กนง. 29 มี.ค.นี้
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) รายงานว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา (20-24 มี.ค.) เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือน ที่ 34.53 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยการแข็งค่าของเงินบาทสอดคล้องกับสถานะซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทย (4.28 และ11.94 พันล้านบาท ตามลำดับ) นอกจากนี้ เงินดอลลาร์เผชิญแรงเทขายท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐ อย่างไรก็ตาม เงินบาทกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ ช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ตลาดรอดูผลการลงมติร่างกฎหมายระบบดูแลสุขภาพของประธานาธิบดีสหรัฐอย่างใกล้ชิด สำหรับวันศุกร์ (24 มี.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 34.61 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับ 34.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในวันศุกร์ที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา
สำหรับสัปดาห์หน้า (27-31 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.50-34.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 29 มีนาคม และตัวเลขเศรษฐกิจเดือนกุมภาพันธ์ของไทย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคมยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย ดัชนีราคา PCE และ Core PCE เดือนกุมภาพันธ์ ราคาบ้านเดือนมกราคม และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2559 (รายงานครั้งสุดท้าย) นอกจากนี้ นักลงทุนอาจมีจุดสนใจเพิ่มที่ผลการลงมติร่างกฎหมายระบบดูแลสุขภาพของประธานาธิบดีสหรัฐ (ซึ่งถูกมองเป็นตัวสะท้อนถึงความสามารถในการทำงานร่วมกับสภาคองเกรส) ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการที่อังกฤษเตรียมประกาศมาตรา 50 ในสนธิสัญญาลิสบอน (29 มี.ค.) ซึ่งเป็นกลไกเริ่มกระบวนการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู)
ส่วนดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา ฟื้นตัวขึ้นท่ามกลางการไหลเข้าของเงินทุนในตลาดเกิดใหม่ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,573.51 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.80 จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน ลดลง ร้อยละ 23.33 จากสัปดาห์ก่อนมาที่ 36,154.10 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 593.79 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.39 จากสัปดาห์ก่อน
สำหรับสัปดาห์หน้า บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่าดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,530 และ 1,550 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,580 และ 1,590 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญต้องติดตาม ได้แก่ การประกาศใช้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนของสหราชอาณาจักร วันที่ 29 มีนาคมนี้ เพื่อเริ่มกระบวนการ Brexit อย่างเป็นทางการ การประชุม กนง.ของไทย รวมทั้งการทำราคาปิดงวดสิ้นไตรมาส ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ดุลการค้า จีดีพีไตรมาส 4/2559 และรายได้ส่วนบุคคล ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ยอดค้าปลีกของญี่ปุ่น และผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี.-สำนักข่าวไทย