จุฬาฯ 23 มี.ค.-นักวิชาการ จุฬาฯ ชี้การเป็นครูต้องมีความรู้ จิตวิญญาณควบคู่กัน เห็นด้วยกับเกณฑ์รับครูใหม่ของ ศธ. เเต่เมื่อสอบบรรจุผ่านเเล้วต้องไปอบรมเพิ่ม 1-2 ปีก่อนไปสอนเด็ก
นายศิริเดช สุชีวะ คณบดีคณะครุศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานการเสวนา เรื่อง “มุมมองเชิงวิชาการต่อการเปิดโอกาสให้ผู้ไม่มีใบประกอบวิชาชีพสอบบรรจุครู” ที่งานวิจัยเเละบริการวิชาการ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นภายหลังกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีการปรับแก้หลักเกณฑ์การรับสมัครครูผู้ช่วย ให้คนที่ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูหรือใบอนุญาตปฏิบัติการสอนที่คุรุสภาออกให้ สามารถสมัครสอบแข่งขันครูผู้ช่วย จากเดิมที่ต้องมีใบอนุญาตจึงจะสามารถสมัครได้เท่านั้น
ภายในงานมีการเผยเเพร่การสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่องดังกล่าว ดังนี้ ร้อยละ 82 ไม่เห็นด้วยที่เกณฑ์ใหม่เปิดโอกาสผู้ที่จบสาขาอื่นสอบบรรจุครูร้อยละ 58 คิดว่าไทยยังผลิตครูที่มีคุณภาพได้ไม่ดีเท่าที่ควร ร้อยละ 60 ไทยควรคัดบุคคลเข้ามาเป็นครูในหลายรูปแบบ ร้อยละ 87 บุคคลที่เป็นครูต้องมีการพัฒนาศาสตร์การสอนให้ ร้อยละ 98 ศาสตร์การสอนเป็นสิ่งจำเป็นเเละร้อยละ 92 ครูที่มีต้องมีจิตวิญญาณความเป็นครู
นายอมรวิชช์ นาครทรรพ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า การประกาศเกณฑ์ใหม่ของก.ค.ศ.เป็นความท้าทายของคณะครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์ ที่ต้องหันกลับมามองเเละพัฒนาศักยภาพตนเอง เดิมทีอาจมีคำครหาต่อวิชาชีพครูเป็นจำนวนมากว่าไม่ตอบโจทย์ของสังคมได้เต็มที่ จึงควรเปลี่ยนเเปลงตัวเองให้สังคมยอมรับได้มากขึ้น ขณะที่ตนมองว่าเกณฑ์ใหม่นี้เคยมีการประกาศใช้ไปแล้วรอบหนึ่งในสมัยที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ยังเป็น รมช.ศธ.พบว่าได้คนเก่งจริงเเต่สอนไม่ได้ ทำไม ศธ.ถึงไม่ถอดบทเรียนก่อนจะประกาศเกณฑ์ใหม่ วอนรัฐบาลหาทีมที่ทำงานด้านการศึกษาที่ดีมาดูเเลนโยบายให้มีความต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมารัฐบาลมี รมว.ศธ.3 คน นโยบายก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย การทำงานจึงไม่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ด้าน น.ส.ภาวิณี โสธายะเพ็ชร อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า นโยบายนี้ทำให้เห็นความเคลื่อนไหวของวิชาชีพ มีการถกเถียงเเละวิเคราะห์ปัญหาดังกล่าวมากขึ้น ตนมองว่าการเป็นครูที่ดีต้องมีความสมดุลระหว่างการมีความรู้ที่ดีประกอบการมีเทคนิคการสอนที่ดีจากประสบการณ์ที่ตนได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศฟินเเลนด์พบว่าให้เกียรติวิชาชีพครูเป็นอย่างมาก มีความเชื่อใจ การเป็นครูต้องจบการศึกษาระดับปริญญาโท ซึ่งใช้เวลาเรียนเช่นเดียวกับไทย เเต่ประเทศไทยจบ 5 ปียังเป็นปริญญาตรีอยู่ ขณะที่ก็มีการเปิดให้คนที่ไม่จบครูมาเป็นครูได้ เเต่เมื่อสอบผ่านต้องผ่านการฝึกอบรมเเละฝึกฝนจนชำนาญกว่า1-2 ปีถึงจะมีใบประกาศนียบัตรเเละไปสอนเด็กได้เเละมีการวิจัยถึงประเด็นเรื่องการ ศึกษาอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ฟินเเลนด์เป็นประเทศที่มีการจัดการศึกษาที่ดีอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่นายอรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศสิงคโปร์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการศึกษาที่ดี เพราะมีการทำงานร่วมกันระหว่างศธ. โรงเรียนเเละสถาบันคุรุศึกษาเพื่อผลิตเเละพัฒนาครู พัฒนาบุคลากรเชิงวิชาชีพอย่างต่อเนื่องอีกทั้งยังมีการรับคนที่ไม่จบครูมาฝึกฝนเพื่อให้มีประสบการณ์ในชั้นเรียนกว่า2 ปีเพื่อเป็นครูเเละไม่มีประเทศใดในโลกที่ปล่อยให้คนที่ไม่ไดถูกฝึกฝนไปเป็นครู ตนมองว่าสาระความรู้ไม่ใช่ตัวเเปรหลักของการเป็นครู เเต่การถ่ายทอดได้เเละมีจิตวิญญาณคือสิ่งสำคัญ เเต่เกณฑ์ที่กระทรวงออกมาไม่มีระบุชัดถึงการฝึกอบรมให้คนที่มาสอบอย่างชัดเจน ตนไม่ได้ห่วงคนมาเเย่งวิชาชีพลูกศิษย์เเต่ห่วงคุณภาพเรื่องการศึกษามากกว่า ตนจะเห็นด้วยหากประกาศออกมาเมื่อสอบบรรจุผ่านเเล้ว ให้ไปฝึกอบรมเเละมีประสบการณ์สอนก่อนจะเข้าไปสอนจริง
ส่วนนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เกณฑ์ดังกล่าว เป็นการดูเเคลนวิชาชีพครู อยากให้นิสิตนักศึกษาอย่าจำนนต่อนโยบาย ต้องเข้มเเข็งเเละยืนหยัดในวิชาชีพ ทำให้อาชีพมีความน่าเชื่อถือเพื่อทำหน้าที่สำคัญของประเทศต่อไป.-สำนักข่าวไทย