จ.อุดรธานี 22 มี.ค.-คลังยืนยันที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตรฯรับภาระภาษีที่ดินน้อยมาก ผ่านครม.เห็นชอบเป็นเพียงกำหนดกรอบเพดานภาษี จัดเก็บจริงต้องรอเสนอกฎหมายลูก ก่อนบังคับใช้ในปี 62
นายพรชัย ฐีระเวช รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า จากหลังที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอแก้ไขเพิ่มเติม หลังจากนี้ต้องนำเสนอที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาคาดว่ากฎหมายประกาศใช้ได้ในปีนี้ แต่จะมีผลบังคับใช้กับการจัดเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2562 เป็นต้นไป เพื่อให้มีช่วงระยะเวลา 1 ปี ปรับตัว หลังจากกฎหมายลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.เป็นกรอบเพดานการจัดเก็บ แต่การจัดเก็บภาษีจริง ต้องเสนออัตราภาษีจัดเก็บจริงอีกครั้ง
สำหรับการเร่ิมจัดเก็บภาษีจริงกับประชาชน จะมีข้อผ่อนปรนให้กับกลุ่มต่างๆ จึงทำให้รายย่อยได้รับภาระเพียงเล็กน้อย และต้องเสนอคณะกรรมาธิการสภา สนช.ร่วมพิจารณา เช่น มูลค่าบ้านไม่เกิน 50 ล้านบาทได้รับการยกเว้นภาษี ดังนั้นประชาชนรายย่อยทั่วไปเกือบไม่ต้องเสียภาษีที่ดินฯ ส่วนพื้นที่ทำการเกษตรฯได้รับการยกเว้นเช่นเดียวกัน เพราะจัดเก็บจริงเพียงร้อยละ 0.001-5 ของเพดานที่กำหนดไว้ เพื่อไม่ให้เกษตรกรได้รับผลกระทบ โดยร่างกฎหมายมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบจัดเก็บภาษี ดังนั้นกระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ต้องเตรียมระบบการจัดเก็บภาษีรองรับใน 1 ปี ข้างหน้า ทั้งการออกกฎหมายลูก มีการลงพื้นที่สำรวจ แล้วนำมามาคำนวณประเมินภาษี
สำหรับการกำหนดเพดานภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพดานสูงสุดร้อยละ 0.2 ของราคาประเมิน ที่ดินที่ใช้ปลูกสร้างที่อยู่อาศัยเพดานสูงสุดร้อยละ 0.5 ส่วนที่ดินเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรมเพดานสูงสุดร้อยละ 2 ของฐานภาษี สำหรับที่ดินรกร้างว่างเปล่าเพดานสูงสุดร้อยละ 2 ลดจากข้อเสนอเดิมร้อยละ 5 แต่ได้ปรับเพิ่มทุก 3 ปีร้อยละ 0.5 แต่ไม่เกินร้อยละ 5
นางทิพย์มณี วัฒนจักร ชาวบ้าน ต.หายโศก อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ยอมรับว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินในปี 62 อาจกระทบต่อคนไม่ได้ทำประโยชน์ แต่หากจัดเก็บไม่สูงนักคงไม่กระทบต่อภาระของชาวบ้าน แต่กังวลการใช้เงินภาษีจากที่ดินและส่ิงปลูกสร้าง เพื่อมอบหมายให้องค์กรท้องถิ่นและนำไปพัฒนาท้องถิ่น กลัวว่าจะเกิดเงินรั่วไหลในการใช้งบประมาณ จึงควรมีหน่วยงานหรือการติดตามการใช้เงิน สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น เพราะปัจจุบันมีแต่ข่าวการโกงกินขององค์กรท้องถิ่น จึงเป็นห่วงปัญหาดังกล่าว.-สำนักข่าวไทย