กรุงเทพฯ 22 มี.ค. – กระทรวงเกษตรฯ ย้ำเกษตรกรเฝ้าระวังสุขภาพสัตว์ช่วงอากาศแปรปรวนเข้าสู่ฤดูร้อน พร้อมเร่งปรับระบบเลี้ยงสัตว์ปีกรายย่อย
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาระหว่างวันที่ 20 – 25 มีนาคม 2560 พบว่าสภาพอากาศมีความแปรปรวน ภาคเหนือมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างภาคตะวันออกและภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพสัตว์โดยตรง ทำให้อ่อนแอ เนื่องจากสัตว์ต้องมีการปรับตัวกับสภาพอากาศ จึงมีความเสี่ยงเกิดโรคระบาดได้ กระทรวงเกษตรฯ ขอให้เกษตรกรเฝ้าระวังดูแลสุขภาพสัตว์อย่างใกล้ชิด ประกอบกับ รายงานขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา พบการระบาดของโรคไข้หวัดนก สายพันธุ์ H5N6 และ H5N1ที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งหน่วยงานทางสัตวแพทย์ของประเทศเวียดนามได้สั่งให้ทำลายสัตว์และซากสัตว์ พร้อมทั้งรณรงค์ทำวัคซีนและพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในพื้นที่ที่พบโรคดังกล่าวแล้ว
นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็วเกือบทั่วทุกภาคของประเทศไทยมีอากาศร้อนจัดในตอนกลางวัน มีลมกระโชกแรงและเกิดพายุฤดูร้อนบางพื้นที่ ส่งผลกระทบให้สัตว์ได้รับความเดือดร้อนทั้งด้านสุขภาพ ที่อยู่อาศัย และด้านอาหาร กรมปศุสัตว์จึงขอให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ไม่ได้เลี้ยงในฟาร์มถูกสุขลักษณะให้ซ่อมแซมคอกและดูแลโรงเรือนให้อยู่ในสภาพดี เพื่อไม่ให้ลมและฝนสาดเข้ามาในโรงเรือนได้ โดยเฉพาะสัตว์ปีกที่ไม่ยอมนอนในโรงเรือน ควรจับมานอนในโรงเรือนให้ได้ พร้อมจัดเตรียมอาหารและน้ำสะอาดให้เพียงพอ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะเข้าไปดูแลอย่างทั่วถึง ทั้งการฉีดวัคซีนและการดูแลสุขภาพต่าง ๆ ในภาพรวมเรียกว่าการปรับระบบการเลี้ยงสัตว์ปีกรายย่อย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าโดยเฉพาะสัตว์ปีกค่อนข้างสูง เหตุผลหนึ่งมาจากเป็นโอกาสที่ประเทศอื่น ๆ เกิดปัญหาเรื่องไข้หวัดนกและยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ประเทศไทยจึงต้องรักษามาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ปีกไว้ เพื่อการส่งออกของสินค้าสัตว์ปีกที่มีคุณภาพต่อไป
นอกจากนี้ ขอให้เกษตรกรเฝ้าระวังในส่วนของโค-กระบือและสุกร เพราะจะมีในเรื่องโรคปากและเท้าเปื่อย และคอบวมในกระบือ แต่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งมีการฉีดวัคซีนพร้อมกันทั่วประเทศ อีกทั้งเกษตรกรเข้าใจดีขึ้น และกำลังจะมีการฉีดวัคซีนพร้อมกันอีกเป็นรอบที่ 2 จึงจะเห็นการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อทั้งในส่วนของโค-กระบือและสัตว์ปีก โดยจะมีการรณรงค์พ่นยาฆ่าเชื้อปีละ 4 ครั้ง หรือ 3 เดือน/ครั้ง ถือเป็นหลักการที่กรมปศุสัตว์ดำเนินการมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2547 นอกจากนี้ ยังมีการตั้งด่านตรวจ หรือการรณรงค์ตามภาวะการเสี่ยงต่าง ๆ ด้วย ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีการสุ่มเก็บตัวอย่างนกที่อพยพหรือนกประจำถิ่นเป็นประจำทุกปี ๆ ละกว่า 3,200 ตัวอย่าง ซึ่งยังไม่ตรวจพบโรคระบาดสำคัญโดยเฉพาะไข้หวัดนก.-สำนักข่าวไทย