นนทบุรี 3 ก.ค. – พาณิชย์ยันดูแลสินค้าประมงใกล้ชิด เหตุราคาตกต่ำ เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สินค้าประมงและสินค้าประมงแปรรูปเป็นสินค้าส่งออกสำคัญทำรายได้ให้ประเทศมากกว่า 185,000 ล้านบาทต่อปี โดยไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าทูน่ากระป๋องและปลาซาร์ดีนแปรรูป อันดับ 1 ของโลก ในช่วงที่ไทยได้รับใบเหลืองจากสหภาพยุโรป (อียู) มีความจำเป็นต้องปรับแก้กฎหมายและมาตรการให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อให้ไทยสามารถส่งสินค้าไปขายยังประเทศต่าง ๆ ได้ ขณะนี้ไทยหลุดใบเหลืองแล้ว แต่ก็ยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ต่อไป ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีต่อทรัพยากรสัตว์น้ำของไทยที่จะเกิดความยั่งยืนแล้ว ยังส่งเสริมให้ภาพลักษณ์สินค้าประมงของไทยดีขึ้นและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นทางการค้าให้แก่อุตสาหกรรมประมงของไทยอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลดีทำให้ไทยมีโอกาสขยายตลาดสินค้าประมงมากขึ้น สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกได้มากขึ้น จากประเด็นราคาสินค้าสัตว์น้ำตกต่ำ กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถานการณ์ราคาอย่างใกล้ชิด พบว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกอยู่ในสภาวะชะลอตัว ทำให้ภาพรวมสินค้าหลายตัวรวมถึงสินค้าประมงชะลอตัวไปด้วย
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้จากตัวเลข GDP ที่เติบโตลดลงจากร้อยละ 3.8 ในปี 2560 เหลือร้อยละ 3.6 ในปี 2561 โดยเศรษฐกิจไม่ได้ชะลอเฉพาะไทยแต่ชะลอตัวทั้งโลก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่ออำนาจการซื้อของผู้บริโภค ทำให้ราคาของสินค้าเกษตรหลายชนิดในท้องตลาดปรับตัวลดลง และจากการตรวจสอบข้อมูลการนำเข้าพบว่าสัตว์น้ำนำเข้าปริมาณเพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าสัตว์น้ำในกลุ่มวัตถุดิบที่ใช้ในการแปรรูปเพื่อการส่งออกและเป็นวัตถุดิบในภัตตาคาร เช่น ปลาแมคเคอเรล ปลาแซลมอน ปลาเทราต์ ปลาค็อด เป็นต้น ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ไม่มีในประเทศ จึงไม่กระทบกับราคาสัตว์น้ำที่จับโดยเรือประมงไทย โดยสินค้ากลุ่มดังกล่าวไทยเปิดการค้าเสรีไม่มีภาษีนำเข้า เพื่อเป็นการลดต้นทุนวัตถุดิบ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมประมงส่งออกของไทย ในส่วนของปลาหมึกพบว่ามีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ตัวเลขทางสถิติจะไม่ส่งสัญญาณว่ามีการนำเข้าสูงมากผิดปกติ แต่ขอให้มั่นใจว่ากระทรวงพาณิชย์มีมาตรการรองรับหากมีการนำเข้าสินค้าประมงถูกกฎหมายที่ไม่ใช่สินค้า IUU เข้ามาในไทยสูงมากผิดปกติจนส่งผลกระทบต่อราคาสัตว์น้ำในประเทศ กรมการค้าต่างประเทศสามารถกำกับดูแลได้ 2 รูปแบบ คือ 1. หากมีการนำเข้าสินค้าประมงมาในลักษณะที่เป็นการทุ่มตลาด ผู้ประกอบการในประเทศสามารถรวมกลุ่มกันนำเสนอข้อมูลให้เห็นว่าการทุ่มตลาดนั้นก่อให้เกิดความเสียหาย โดยมีรายละเอียดกำหนดใน พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 หรือ 2.หากมีข้อมูลทางสถิติแสดงว่ามีการทะลักของสินค้าประมงเข้ามาในปริมาณมากและรวดเร็ว ผู้ประกอบการที่เสียหายต้องรวมกลุ่มมายื่นข้อมูลที่แสดงว่ามีการทะลักเข้ามาแล้วก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงจะใช้มาตรการปกป้องเพื่อแก้ไขปัญหาภายใต้ พ.ร.บ. มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ. 2550 ได้
อย่างไรก็ตาม หากมีการลักลอบนำเข้าสินค้าประมง IUU เข้าในประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมประมง กรมเจ้าท่า และหน่วยงานความมั่นคงได้ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด และได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่สินค้าประมงของไทย โดยผู้ใดมีเบาะแสเกี่ยวกับการลักลอบสินค้าประมง สามารถแจ้งให้กระทรวงพาณิชย์ทราบได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน โทร 1569.-สำนักข่าวไทย