พาณิชย์ถกเอกชนรับมือสงครามการค้าสหรัฐ-จีน

นนทบุรี 29 พ.ค. – พาณิชย์เรียกประชุมเอกชนรับมือสงครามการค้าสหรัฐกับจีน ย้ำอาจยืดยื้อ เตรียมแผนเสนอกรรมการเศษฐกิจ 11 มิ.ย.นี้ พร้อมตั้งวอร์รูมเฝ้าติดตามใกล้ชิด


น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมร่วมระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน ได้แก่ หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เพื่อหารือแนวทางการเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาสงครามการค้า หลังแนวโน้มสถานการณ์ยังคงยื้ดเยื้อ ตั้งแต่เกิดปัญหาการใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าสหรัฐและจีนปี 2561 จนถึง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีผลกระทบทางตรงและทางอ้อม ส่งผลให้การส่งออกไทยลดลงประมาณ 630 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลงร้อยละ 0.19 

ทั้งนี้ ได้มีการแบ่งสินค้าที่ได้รับผลกระทบออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสินค้าที่ยังขยายตัว เช่น เคมีภัณฑ์ รองเท้า อาหารปรุงแต่ง เครื่องดื่ม และยาสูบ กลุ่มสินค้าที่ต้องติดตาม เนื่องจากส่งออกขยายตัวปีที่แล้ว แต่กลับมาส่งออกลดลงในปีนี้ เช่น สิ่งทอ อุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์ เยื้อไม้และกระดาษ เหล็ก และยานพาหนะ กลุ่มที่มีโอกาส เพราะส่งออกลดลงปีที่แล้ว แต่เริ่มปรับตัวได้ทำให้ส่งออกเพิ่มขึ้นปีนี้ เช่น เลนส์ และนาฬิกา 


นอกจากนี้ ยังกำหนดมาตรการระยะสั้น โดยการเร่งทำตลาดใหม่ ๆ พร้อมเตรียมมาตรการต่าง ๆ ที่มี เพื่อป้องกันการทะลักของสินค้าที่มีการกีดกันกัน ส่วนมาตรการระยะกลางและระยะยาว จะเร่งเจรจาเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ เพื่อไม่ให้เสียเปรียบคู่แข่ง รวมทั้งปรับโครงสร้างการค้าควบคู่กับการลงทุน พร้อมเสนอให้มีการตั้งวอร์รูมรวมคนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถประสานได้อย่างรวดเร็ว เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ซึ่งจะมีการสรุปแนวทางทั้งหมดนี้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หรือ กนศ. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน วันที่ 11 มิถุนายนนี้ เพื่อนำไปสู่การปฎิบัติกันต่อไป

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การประชุมร่วมครั้งนี้ เพื่อรับฟังสถานการณ์และปัจจัยบวกลบที่กำลังเปลี่ยนไป หลังจากแนวโน้มอังกฤษอาจทบทวนการออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) ทำให้การเจรจาการค้าไทยกับอียูเดินหน้า รวมถึงท่าทีผ่อนคลายของสหรัฐกับจีนต่อการใช้มาตรการตอบโต้การปรับขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างกัน อาจชะลอผลกระทบต่อการส่งออกและการย้ายฐานการผลิตของประเทศต่าง ๆ รวมถึงต้องพิจารณาประกอบกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น เงินบาท ราคาน้ำมัน การย้ายฐานผลิตสินค้าหลังเกิดเทรดวอร์ เป็นต้น

“จากหลายท่าทีที่ผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้ต้องฟังความเห็นจากภาคเอกชนและกลุ่มผู้ส่งออกในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ใหม่ รวมถึงแผนงานของทูตพาณิชย์ที่ขอให้ทบทวนสถานการณ์ต่าง ๆให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป จากเดิมจะหนักหนาอาจดีขึ้น โดยยังมั่นใจปีนี้ส่งออกไทยไม่ติดลบ แต่อาจบวกไม่เท่าเป้าหมายเดิมตั้งไว้ร้อยละ 8 และยังเดินหน้าผลักดันการส่งออกให้ได้มูลค่าต่อเดือน 21,000-22,000 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงที่เหลือปีนี้ “ น.ส.บรรจงจิตต์ กล่าว


ส่วนตัวเลขเป้าหมายการส่งออกใหม่จะลดลงจากร้อยละ  8 เท่าไหร่นั้น ต้องรอผลการหารือระหว่างรัฐกับเอกชน และการรับมอบนโยบายจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี วันที่ 31 พฤษภาคมนี้ แต่ยอมรับว่าเบื้องต้นค่อนข้างกังวลต่อการส่งออกไปแอฟริกา เพราะมีปัญหาทางการเมืองกระทบต่อกำลังซื้อการนำเข้า และราคาน้ำมันโลกไม่ได้ขยับขึ้นตามคาดการณ์ จะกระทบต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันของไทย.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เชียงใหม่อากาศแปรปรวน เจอลมหนาว-ฝนตก 3 วันติด

ชาวเชียงใหม่เจอลมหนาวและฝนตกต่อเนื่อง 3 วันติด อุตุฯ ย้ำอากาศแปรปรวน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ยังมีฝนตกและลมหนาว แนะรักษาสุขภาพ

ข่าวแนะนำ

อุตุฯ เผย “เหนือ-อีสาน” อากาศเย็นตอนเช้า-ภาคใต้ฝนหนัก

กรมอุตุฯ เผย “เหนือ-อีสาน” อากาศเย็นในตอนเช้า เตือนภาคใต้ฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง พร้อมอัปเดตเส้นทางพายุ “หยินซิ่ง”

MOU44

MOU 44 ผลประโยชน์ชาติ กับ การเมือง ตอนที่ 1

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องเอ็มโอยู 44 และเส้นแบ่งอาณาเขตทางทะเล หรือเส้นเคลม กลายเป็นปมร้อน ท่ามกลางความกังวลถึงผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และสิทธิเหนือเกาะกูด ติดตามความเห็นและมุมมองจากผู้เกี่ยวข้องในรายงาน “ปมร้อน เอ็มโอยู 44 ผลประโยชน์ชาติ กับ การเมือง”