กรุงเทพฯ 21 ธ.ค. – นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งประเทศว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมามีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำรวมกันทั้งสิ้น 49,897 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 71 ของปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งหมดและมีปริมาณน้ำใช้การได้ 26,371 ล้านลูกบาศก์เมตร
สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคณะทำงานวางแผนการปลูกพืชฤดูแล้งกำหนดแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2559/2560 ด้วยการกำหนดให้มีการใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก ปริมาณน้ำรวมกัน 5,950 ล้านลูกบาศก์เมตร เริ่มส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 – 30 เมษายน 2560 ตามมาตรการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน แยกเป็นการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร การรักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ 1,450 ล้านลูกบาศก์เมตร และการเกษตร 3,400 ล้านลูกบาศก์เมตร และยังต้องสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2560 อีก 3,754 ล้านลูกบาศก์เมตร
ปัจจุบันลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 9,705 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการนำน้ำไปใช้แล้ว 1,001 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 17 ของแผนการจัดสรรน้ำ (จากแผนจัดสรรน้ำฯ 5,950 ล้านลูกบาศก์เมตร) คงเหลือน้ำใช้การได้จนถึงเดือนเมษายน 2560 อีกประมาณ 4,949 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีการใช้น้ำรวมกันประมาณวันละ 42 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนการเพาะปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่ามีพื้นที่ทำนาปรังแล้วกว่า 1,690,000 ไร่ จากแผนที่วางไว้ 2,600,000 ไร่ พืชไร่ – พืชผัก มีพื้นที่เพาะปลูกแล้ว 30,000 ไร่ จากแผนที่วางไว้ 1.45 ล้านไร่ แนวโน้มพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังยังคงเพิ่มขึ้น
สำหรับเขื่อนที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยไม่สามารถสนับสนุนการใช้น้ำในภาคการเกษตรได้จำเป็นต้องวางแผนการจัดสรรน้ำอย่างรัดกุม เฉพาะการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เท่านั้น มี 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแชะ จังหวัดนครราชสีมา เขื่อนปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเขื่อนที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ไม่สามารถสนับสนุนการทำนาปรังได้ คงเหลือน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และพืชใช้น้ำน้อย 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ จังหวัดกาญจนบุรี เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา
“แม้ปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่งจะมีน้ำเพียงพอใช้ในช่วงฤดูแล้งปีนี้และหลายแห่งมีปริมาณมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังคงต้องให้ทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในปีต่อไปอย่างไม่ขาดแคลนและเกิดความยั่งยืนในการใช้น้ำตลอดไป” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว คงเหลือน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำและพื้นที่การเกษตรบางแห่ง ซึ่งกรมชลประทานยังคงสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ เพื่อให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วในระยะต่อไป.-สำนักข่าวไทย