กรุงเทพฯ 28 ก.พ. – กรมชลประทานเพิ่มระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระราม 6 ป้องกันน้ำเค็มรุกเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงน้ำทะเลหนุน พร้อมวอนเกษตรกรงดปลูกข้าวนาปรังต่อเนื่อง หลังพื้นที่เพาะปลูกเกินแผนเกือบ 2 เท่า
นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในแม่น้ำเจ้าพระยา ภายหลังจากได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณดังกล่าวมีคลื่นลมแรงหรือสตอร์มเซิร์จ ทำให้น้ำทะเลยกตัวสูงขึ้น ส่งผลให้น้ำเค็มรุกเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงน้ำทะเลหนุนสูง
ทั้งนี้ ในช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดสภาวะน้ำทะเลหนุน (27 – 28 ก.พ. 60) กรมชลประทานเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนพระราม 6 จาก 35 เป็น 45 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 เพื่อควบคุมความเค็มไม่ให้สูงเกินค่ามาตรฐาน แต่เนื่องจากเกิดคลื่นลมแรงหรือสตอร์ม เซิร์จขึ้นอีก กรมชลประทานจึงเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา จาก 70 เป็น 75 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเขื่อนพระราม 6 จาก 45 เป็น 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมกับให้โครงการชลประทานท้ายเขื่อนเจ้าพระยาทั้งหมด งดรับน้ำเข้าระบบชลประทาน และให้ประสานไปยังองค์กรปกครองท้องถิ่นควบคุมไม่ให้รับน้ำหรือสูบน้ำไปใช้ในช่วงที่มีการระบายน้ำลงมาผลักดันน้ำเค็ม
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสภาพการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่าปัจจุบันมีการทำนาปรังไปแล้วกว่า 5.30 ล้านไร่ เกินแผนไปแล้วกว่า 2.63 ล้านไร่ ทำให้ความต้องการใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวเพิ่มขึ้นกว่าแผนที่วางไว้ เพราะน้ำส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้ในการเพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างเหลือน้อยลง ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับการบริหารจัดการน้ำในระยะต่อไป กรมชลประทานจึงขอให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยางดทำนาปรังต่อเนื่องหรืองดปลูกข้าวนอกแผนเพิ่มขึ้นอีก เพื่อลดความเสี่ยงต่อผลผลิตที่จะต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ในอนาคต.-สำนักข่าวไทย