กรุงเทพฯ 23 ธ.ค. – ธปท.ชี้เศรษฐกิจโลกผันผวน แนะไทยปรับตัวเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ชูยุทธศาสตร์ 3 ปี สร้างรากฐานความเป็นอยู่ที่ดีของไทยอย่างยั่งยืน
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจการเงินโลกระยะต่อไปมีแนวโน้มผันผวนส่วนหนึ่งมาจากปัญหาโครงสร้างและการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง ขณะที่เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องปรับตัวเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และหนี้ครัวเรือน และเตรียมความพร้อมรองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุและเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้ มองว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยเพิ่มโอกาสและลดต้นทุนภาคธุรกิจและผู้ใช้บริการ
ขณะเดียวกันรูปแบบการดำเนินชีวิตและธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วถือเป็นความท้าทายที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัว โดยในปี 2560 ธปท.จะมุ่งสร้างรากฐาน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของไทยด้วยการพัฒนาศักยภาพการเงิน ลดเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินที่เป็นอุปสรรคหรือหมดความจำเป็น ขยายขอบเขตการกำกับดูแลตาม พ.ร.บ.ระบบชำระเงิน เพื่อรองรับนวัตกรรมทางการเงิน เทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะโมบายเปย์เม้นให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยยิ่งขึ้น นอกจากนี้ จะปรับปรุงกฎเกณฑ์ส่งเสริมดิจิทัลแบงก์กิ้ง ฟินเทค พร้อมทั้งสนับสนุนการทดลองนวัตกรรมใหม่ ๆ ภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม พัฒนาข้อมูลเพื่อปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี ผลักดันการใช้และรับบัตรเดบิตของประชาชน ภาครัฐ และภาคธุรกิจให้แพร่หลาย พร้อมใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ในกลุ่ม CLMV ทั้งการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานชำระเงินรายย่อย เพิ่มบริการโอนเงินนระหว่างประเทศและสนับสนุนการใช้สกุลเงินท้องถิ่น นอกจากนี้ สนับสนุนให้มีบัญชีเงินฝากพื้นฐานและผลิตภัณฑ์การออม การลงทุนหลากหลายภายในประเทศ พร้อมวางแนวทางปรับปรุงโครงสร้างค่าธรรมเนียม เพื่อลดความบิดเบือนและสร้างความเป็นธรรม
ทั้งนี้ ธปท.กำหนดยุทธศาสตร์ 3 ปี (2560-2562) ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ 1.การรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงิน ทบทวนกฎระเบียบแลกเปลี่ยนเงิน ส่งเสริมผู้ประกอบการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ขณะเดียวกันเตีรยมความพร้อมภาคการเงินไทยเพื่อเข้ารับการประเมินไฟแนนเชียล เซ็คเตอร์ แอดเซ็คเม้นท์ โปรแกรม ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินหลักให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมรองรับ พ.ร.บ.การชำระเงินที่มีขอบเขตงานมากขึ้น ขยายการกำกับดูแลบริการใหม่ ๆ โดยเฉพาะโมบายเปย์เม้นให้ได้มาตรฐาสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ
2.พัฒนาระบบการเงิน ส่งเสริมผู้ให้บริการการเงินมีการแข่งขัน สร้างนวัตกรรม ให้บริการการเงินดิจิทัลครบวงจร สนับสนุนบทบาทผู้ให้บริการเฉพาะทาง เพื่อลดช่องว่างการเข้าถึงบริการการเงิน ผลักดันให้ค่าธรรมเนียมเดบิตการ์ดสะท้อนโครงสร้างต้นทุนแท้จริง เชื่อมโยงการเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV เพราะมีศักยภาพเติบโตสูง ยกระดับการกำกับดูแลระบบสถาบันการเงิน เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการอย่างเป็นธรรม และ 3.สร้างความเข้มแข็งให้องค์กร ยกระดับให้ ธปท.เป็นองค์กรที่ทันสมัย คล่องตัว.-สำนักข่าวไทย