สำนักข่าวไทย 28 ธ.ค.-พระเมธีธรรมาจารย์ เผยคณะสงฆ์จับตาผลประชุมสนช.พรุ่งนี้แก้พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา7 ลดอำนาจมหาเถรสมาคม แต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ยืนยันคณะสงฆ์ ไม่ได้หวงอำนาจ แต่ขอมีส่วนร่วมในการแก้กฎหมาย
พระเมธีธรรมาจารย์ หรือเจ้าคุณประสาร ในฐานะเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย แสดงมุมมอง กรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับปี พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม 2535 ในมาตรา 7 เรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช โดยจะเสนอให้ตัดการเสนอสมเด็จพระราชาคณะ ที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ออกและลดอำนาจมหาเถรสามคม ว่า คณะสงฆ์ส่วนใหญ่มีข้อห่วงใยในเรื่องนี้ และมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะการจะแก้กฎหมายที่มีผลกระทบและมีผลอย่างยิ่งต่อคณะสงฆ์ ถึงแม้จะแก้น้อย แต่เป็นหมวดที่อยู่ในสาระสำคัญ อยากให้มีการขอความเห็นและให้คณะสงฆ์มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ซึ่งผู้แทนของคณะสงฆ์หรือแม้แต่มหาเถรสมาคม ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมเลย
ส่วนที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือวิป สนช.แถลงในประเด็นสาระสำคัญใหญ่ 3ข้อ คือ1.ให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่งและให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระราชโองการ 2.เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชที่ผ่านมา 3.ลดอำนาจของมหาเถรสมาคม ยืนยันว่าการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ส่วนนี้ คณะสงฆ์ไม่เคยก้าวล่วง และมหาเถรสมาคมไม่ได้หวงอำนาจ หากการแก้พ.ร.บ.คณะสงฆ์หรือตัดอำนาจออกไปเพื่อความถูกต้องดีงาม เพื่อความยุติธรรมก็ไม่มีปัญหา แต่มองว่าขั้นตอนการบริหารจากล่างขึ้นบน นั้นเป็นเรื่องปกติ ซึ่งการแก้พ.ร.บครั้งนี้จึงไม่ตรงจุด ยิ่งเป็นการเพิ่มความขัดแย้ง เพราะวิธีแบบนี้ไม่ถูกต้องและคณะสงฆ์ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งการเสนอรายชื่อแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชที่ผ่านมา ก็ยึดตามโบราณราชประเพณี คือ เสนอ สมเด็จพระราชคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณะศักดิ์
อย่างไรก็ตาม องค์กรพุทธและคณะสงฆ์ส่วนใหญ่จะจับตารอกำหนดท่าทีหลังผลการประชุมของ สนช.กับนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในวันที่ 29 ธ.ค.นี้ เพราะไม่สามารถนิ่งดูดายได้ แต่การจะออกเคลื่อนไหวอย่างไรต้องรอดูสถานการณ์ซึ่งพยายามระมัดระวังไม่อยากให้มีการตีความผิดพลาด ว่าเป็นการเคลื่อนไหว แต่คือการแสดงจุดยืนของคณะสงฆ์ ในเมื่อได้รับผลกระทบจะไม่ให้แสดงท่าทีเลยหรือ
พร้อมย้ำว่าการออกมาแสดงความคิดเห็นครั้งนี้ ไม่ได้ปกป้องพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง แต่เป็นการปกป้องความถูกต้อง ซึ่งสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มีคุณสมบัติที่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงตั้งข้องสังเกตว่า เมื่อยึดความถูกต้องของกฏหมาย แต่กลับถูกมองว่าเป็นการป้องป้องพระรูปใดรูปหนึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลก หากการแก้กฎหมายทำตามใจตัวเอง และไม่รับฟังความคิดเห็น ปัญหาก็จะเกิดขึ้นอยู่ร่ำไป
นอกจากนี้การแก้พ.ร.บ.สงฆ์ โดยไม่มีการรับฟังความเห็น ถือเป็นการไม่ถวายเกียรติคณะสงฆ์และมหาเถรสมาคม แม้จะเป็นอำนาจที่ชอบธรรม แต่หากมีผลกระทบต่อองค์กรใด ต้องฟังความเห็น คือสิ่งสำคัญในการออกกฎหมาย ไม่ใช่มีอำนาจแล้วออกกฏหมายได้เลย .-สำนักข่าวไทย