สถาบันปรีดี พนมยงค์ 11 มี.ค.- ครอบครัวทนายสมชาย พีระไพจิตร จัดกิจกรรมครบรอบ 13 ปีของการหายตัวไปของทนายสมชาย ขณะที่ ภรรยา เผย ครอบครัวยังไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ หลังล่าสุด DSI แจ้งงดการสอบสวน เพราะไม่พบศพ ชี้ รัฐบาลควรสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย เพื่อบังคับใช้กฎหมายเอาคนผิดมาลงโทษ และไม่ให้การบังคับสูญหายเกิดขึ้นอีก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (11 มี.ค.) มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และครอบครัวของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ได้กิจกรรมรณรงค์เพื่อรำลึกถึง 13 ปี แห่งการสูญหายไปของทนายสมชาย ที่สถาบันปรีดี พนงยงค์ มีการจัดนิทรรศการมุมทำงานของนายสมชาย นิทรรศการประวัติและการต่อสู้ของนักสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และปาฐกถาพิเศษเรื่อง งานคือชีวิตของสมชาย นีละไพจิตร และชีวิตคืองานของครอบครัวนีละไพจิตร โดยนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะภรรยาของนายสมชาย
ทั้งนี้ นางอังคณา เปิดเผยถึงการทำงานของนายสมชายว่า นายสมชายเกิดและเติบโตมาในครอบครัวของชาวนา จึงมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือคนยากจน โดยจะแบ่งเงินที่หาได้ เพื่อเป็นทุนในการช่วยเหลือคดีของผู้ยากไร้ ก่อนที่นายสมชายจะหายตัวไป ลูกความของนายสมชาย 5 คน ที่ถูกจับกุมที่จังหวัดนราธิวาส ได้ร้องเรียนว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจซ้อมอย่างทรมาน ในระหว่างที่ถูกควบคุมตัว เมื่อนายสมชายไปเยี่ยมลูกความ ก็พบว่ามีบาดแผลจริง จึงทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
นางอังคณา กล่าวว่า เพียง 1 วันที่ได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ก็ถูกอุ้มหายตัวไปทันที ซึ่งครอบครัวใช้เวลา 12 ปี ต่อสู้คดีจนถึงศาลฎีกา และตัดสินว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีความผิด เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ที่สำคัญยังตัดสิทธิ์ครอบครัวที่จะเป็นโจทก์ร่วมในคดี ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานต่อไปว่า ในคดีอุ้มหาย ญาติไม่สามารถเป็นผู้เสียหายแทนได้
“เดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) มีหนังสือส่งมาถึงครอบครัวว่า DSI งดการสอบสวน เนื่องจากไม่พบศพของนายสมชาย ครอบครัวจึงยังไม่ทราบว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปหลังจากนี้ เพราะประเทศไทยยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหาย” นางอังคณา กล่าว
นางอังคณา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ได้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการกฤษฎีกา และนำเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว แต่ สนช.มีความเห็นไม่รับร่างกฎหมายดังกล่าว โดยยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง ขณะที่ กระทรวงยุติธรรมให้ข้อมูลว่า ได้นำร่างกฎหมายดังกล่าวกลับมารับฟังความเห็นอย่างกว้างขวาง ทั้งที่ความจริงแล้ว ร่างกฎหมายฉบับที่ส่งไปนั้น ได้ใช้เวลาจัดทำร่าง พร้อมรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวางมาแล้วหลายปี จึงตั้งข้อสังเกตว่า หากเกิดกรณีอุ้มหายไป จะต้องดำเนินการอย่างไร
“ดิฉันอยากฟังจากรัฐบาลด้วยว่า จะต้องทำอย่างไร เพราะมีหลายกรณีที่บุคคลสูญหาย แต่ตำรวจระบุว่า เป็นคดีที่ไม่มีหลักฐาน เนื่องจากไม่พบศพ ดังนั้น หลังจากนี้ หากใครถูกอุ้มหาย ก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้” นางอังคณา กล่าว
นางอังคณา กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (10 มี.ค.) สนช.มีมติให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยการถูกบังคับ ดังนั้น ร่างกฎหมายดังกล่าวมีความจำเป็นที่จะต้องสอดคล้องกับอนุสัญญา หากปรับปรุงร่างกฎหมายจนไม่สอดคล้องกับอนุสัญญา ก็จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และไม่สามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้
“ดิฉันพยายามผลักดันกฎหมายนี้มาตลอด เนื่องจากอยากบอกกับสังคมไทยว่า ปัญหาของการบังคับสูญหายอยู่ที่ ประเทศไทยไม่มีกฎหมายคุ้มครอง และพบว่าเจ้าหน้าที่บางคนก็ใช้วิธีการนี้ ทำให้ตัวเองไม่ต้องรับโทษ เนื่องจากไม่พบศพ ก็ไม่มีความผิด ดังนั้น ตราบใดที่รัฐบาลไทยหรือบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ยังไม่เห็นความสำคัญของกฎหมายนี้ ก็จะเป็นการซ้ำเติมครอบครัวผู้สูญเสีย และเป็นวัฒนธรรมที่ทำให้ผู้กระทำผิดลอยนวล รวมทั้ง ทำให้การบังคับสูญหายเกิดขึ้นอีก” นางอังคณา กล่าว .- สำนักข่าวไทย