ศูนย์ราชการฯ 29 ส.ค.-ทุกภาคส่วนร่วมผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายฯ ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อแก้ปัญหาคนถูกอุ้มหายไม่ทราบชะตากรรมนับ100 ราย
คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดเสวนาทางวิชาการระดมความคิดเห็นจากนักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ หน่วยงานที่ทำการสืบสวนสอบสวน รวมถึงครอบครัวผู้สูญหาย เนื่องในโอกาสวันสากลแห่งการคุ้มครองบุคคลจากการบังคับให้สูญหาย 30 ส.ค. เพื่อร่วมผลักดัน พ.ร.บ ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายของไทยให้มีการบังคับใช้โดยเร็ว ซึ่งขณะนี้ร่างพ.ร.บ. อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าแต่ละปีทั่วโลกมีจำนวนผู้หายสาบสูญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พบว่าทั้งหมดของผู้สูญหายเหล่านี้จะไม่ได้กลับคืนสู่ครอบครัวในสภาพที่มีชีวิต เนื่องในวันสากลแห่งการคุ้มครองบุคคลจากการบังคับให้สูญหายปีนี้ ทั่วโลก ได้เรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศมีการป้องกันและยุติการบังคับสูญหายในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการบังคับสูญหายชั่วคราวจากการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงแสดงความกังวลถึงเรื่องการคุกคาม แก้แค้นต่อเหยื่อและญาติผู้เสียชีวิต
ในส่วนของไทย ซึ่งมีผู้ถูกบังคับสูญหายอย่างต่อเนื่องมาในช่วงหลายสิบปี ต้องการให้มีกฎหมายออกมาลงโทษเผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง โดยเร็ว แต่ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เนื่องจาก ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. นี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังจากผ่านขั้นตอนคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ก็จะส่งกลับมายังคณะรัฐมนตรและส่งให้สนช. พิจารณาต่อ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกพอสมควร
ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีสาระสำคัญเบื้องต้น เช่น กำหนดให้การบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมร้ายแรง ต้องกำหนดมาตรการการสอบสวน โดยพลัน เพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ ,เจ้าหน้าที่ที่ก่อเหตุบังคับให้บุคคลสูญหาย มีความผิดทางอาญา, กำหนดความรับผิดถึงผู้บังคับบัญชา , มีคณะกรรมการเฉพาะที่สามารถเข้าตรวจสอบพื้นที่ต้องสงสัยว่ามีการบังคับทรมานหรือกักขังได้ทันที , ให้ครอบครัวเหยื่อสามารถรับการเยียวยาจากภาครัฐได้ เป็นต้น
สำหรับสถานการณ์คนหายในประเทศไทย ตั้งแต่ปี2534 ถึงปัจจุบัน มีทั้งหมด 79กรณี รวม 101 คน ทั้งหมดยังไม่ทราบชะตากรรม .-สำนักข่าวไทย